fb
สมาคมผู้กลั่นน้ำมันบริโภค (SEA) ของอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าน้ำมันมะพร้าวท่ามกลางราคาที่พุ่งสูง

สมาคมผู้กลั่นน้ำมันบริโภค (SEA) ของอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าน้ำมันมะพร้าวท่ามกลางราคาที่พุ่งสูง

โดย
chalotorns@ditp.go.th
ลงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2568 11:15
32

                     สมาคมผู้กลั่นน้ำมันบริโภคของอินเดีย (The Solvent Extractors’ Association of India – SEA) ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อขออนุญาตให้สามารถนำเข้าน้ำมันมะพร้าวและมะพร้าวแห้ง (copra) เนื่องจากอุปสงค์ของตลาดมีความจำเป็นเร่งด่วนในการบรรเทาผลกระทบจากราคาภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันมะพร้าวได้พุ่งสูงขึ้นเกือบสามเท่า ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศ ปัจจัยหลักของการปรับขึ้นราคานี้เกิดจากผลผลิตมะพร้าวที่ลดลงถึง 40% โดยมีสาเหตุจากการระบาดของศัตรูพืชในพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวที่สำคัญ เช่น รัฐเกรละ กรณาฏกะ ทมิฬนาฑู ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลงอย่างมากและก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนในตลาด ราคาน้ำมันมะพร้าวจึงพุ่งสูงเกินระดับที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ และทำให้จากความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด
                     การปรับขึ้นของราคายังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อความสามารถในการซื้อกลายเป็นข้อกังวลหลัก ทั้งครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากจะหันไปใช้น้ำมันพืชทางเลือกที่มีราคาถูกกว่า เช่น น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันดอกทานตะวัน ที่มีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในตลาด แนวโน้มนี้ไม่เพียงส่งผลต่อยอดขายน้ำมันมะพร้าวภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้ผลิตที่ต้องพึ่งพาตลาดที่มั่นคงและเข้าถึงง่าย เมื่อการผลิตภายในไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ สมาคม SEA จึงเชื่อว่า การอนุญาตให้นำเข้าสินค้ามะพร้าวอย่างจำกัดจะช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนในตลาด ลดความเดือดร้อนของผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวในประเทศได้รับความเสียหายในระยะยาว
                     อนึ่ง การอนุญาตให้นำเข้าแม้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่ก็ถือเป็นทางออกที่สำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันมะพร้าว และช่วยพยุงอุตสาหกรรมในช่วงวิกฤตนี้ การเสริมอุปทานในประเทศด้วยการนำเข้า จะช่วยให้ตลาดกลับคืนสู่สมดุล ราคาปรับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม โดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของเกษตรกรในประเทศ ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังเน้นย้ำว่า หากรัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดได้ทันท่วงทีผ่านการนำเข้า จะสามารถป้องกันไม่ให้เกษตรกรต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้บริโภค รักษาความสำคัญของสินค้าน้ำมันมะพร้าวในตลาดน้ำมันพืช และคุ้มครองความยั่งยืนของเศรษฐกิจมะพร้าวของอินเดียในระยะยาวได้ โดยสมาคมฯ หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาให้เป็นแนวทางเชิงรุกในการคุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกไปจนถึงผู้บริโภค
     ข้อมูลเพิ่มเติม 
             1. ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 รัฐบาลอินเดียได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันพืชดิบทุกประเภทลง 10 % โดยมีเป้าหมายเพื่อลดราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคและบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะพร้าวและมะพร้าวแห้ง (copra) ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างภาษีและข้อจำกัดที่เข้มงวด ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ข้อเรียกร้องของสมาคมครั้งนี้ จึงมุ่งหวังให้รัฐบาลขยายสิทธิประโยชน์นี้ไปยังผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สกัดจากมะพร้าวโดยเฉพาะ
             2. ในประเทศ แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าจากน้ำมันพืชรายใหญ่ เช่น Marico และ Dabur ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกประมาณ 40% ภายในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวจากต้นทุนมะพร้าวแห้ง ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
            3. ตารางนี้แสดงถึงสถิติการนำเข้าน้ำมันมะพร้าวของอินเดียจากประเทศต่างๆ ในช่วงปี 2565-2567 โดยจะเห็นได้ว่าปริมาณการนำเข้าโดยรวมของโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากจาก 32,326 กิโลกรัมในปี 2565 เหลือเพียง 421 กิโลกรัมในปี 2567 แต่มูลค่าการนำเข้าในปี 2567 กลับลดลงเหลือ 8,696 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 122,079 เหรียญสหรัฐ ในปี 2565 ประเทศคู่ค้าหลักคือ สิงคโปร์ (อันดับ 1) สหราชอาณาจักร (อันดับ 2) และสหรัฐอเมริกา (อันดับ 3) โดยในปี 2567 สิงคโปร์ เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุดด้วยปริมาณ 280 กิโลกรัม มูลค่า 4,160 เหรียญสหรัฐ ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าอินเดียมีการนำเข้า น้ำมันมะพร้าวในปริมาณที่ไม่สูงมากและมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา

image.png

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
              1.บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ: การอนุญาตให้นำเข้าสินค้ามะพร้าวจะช่วยบรรเทาราคาน้ำมันมะพร้าวที่ปรับขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาน้ำมันพืชสำหรับการบริโภคของประชาชนอยู่ในระดับที่จับต้องได้ และช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อายุรเวท
                 2.เสถียรภาพของตลาด: การนำเข้าจะช่วยรักษาความเชื่อมั่นของตลาด ลดความเสี่ยงจากการตื่นตระหนก กักตุนหรือการขายสินค้าในตลาดมืด ทั้งยังเป็นการชดเชยผลผลิตมะพร้าวในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือศัตรูพืช ป้องกันความไม่สงบในพื้นที่ปลูกมะพร้าว และช่วยรักษาความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อน้ำมันมะพร้าวไม่ให้เปลี่ยนไปใช้น้ำมันพืชชนิดอื่นแทน
                 3.การจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ: หากมีการจัดการที่ขาดความเหมาะสม จะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในประเทศอินเดียซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำ ขณะที่การพึ่งพาการนำเข้าจะลดแรงจูงใจในการพัฒนาการผลิตในประเทศ โรงงานแปรรูปในประเทศจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านคุณภาพและการนำเข้าอาจสร้างแรงกดดันต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งท่าเรือ การเก็บรักษา และการขนส่ง ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเพิ่มภาระในการกำกับดูแล การติดตามมาตรฐาน และการควบคุมการนำเข้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
ข้อคิดเห็น
         สถานการณ์ข้อเรียกร้องจากสมาคมผู้กลั่นน้ำมันบริโภค (SEA) ในการอนุญาตชั่วคราวให้นำเข้าสินค้ามะพร้าวจะช่วยบรรเทาราคาน้ำมันมะพร้าวที่ปรับขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ลดความเสี่ยงจากการปรับพฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียไปใช้น้ำมันพืชทางเลือกที่มีราคาถูกกว่า เช่น น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งแนวโน้มนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อยอดขายน้ำมันมะพร้าวภายในประเทศเท่านั้น แต่จะขยายไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอาทิ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อายุรเวท ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าสินค้าน้ำมันมะพร้าว (โคปรา) และส่วนประกอบต่างๆ (พิกัด 151319) แสดงให้เห็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเป็นคู่ค้าในตลาดน้ำมันมะพร้าวอินเดีย โดยในปี 2568 (เดือนมกราคม-เมษายน) ไทยก้าวขึ้นเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 2 รองจากสหราชอาณาจักรด้วยมูลค่า 4,799 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 2.74% ทั้งที่ ในปีที่ผ่านมา ไทยไม่ปรากฏในตลาดนำเข้าสำคัญของอินเดีย การเติบโตนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดในภาพรวมเริ่มมีการขยายตัวสูงจากการนำเข้าของโลกด้วยมูลค่า 3,804 เหรียญสหรัฐในปี 2567 เพิ่มเป็น 175,410 เหรียญสหรัฐในปี 2568 (ขยายตัว 4,510%) ซึ่งสะท้อนความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปัญหาการผลิตมะพร้าวในประเทศของอินเดีย ไทยมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับสหราชอาณาจักร (อันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 95.52%) และขยายส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง และความเข้าใจตลาดเอเชีย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามข่าวและช่วงเวลาที่รัฐบาลอินเดียอนุญาตการนำเข้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2568 เพราะหากรัฐบาลประกาศแล้ว จะส่งผลให้มาตรการถูกบังคับใช้เป็นเวลา 6-12 เดือน

 

coconut oil 2.png


ที่มา: 1. •    https://connect.spglobal.com/gta/standard-reports/ 
2.https://www.outlookbusiness.com/economy-and-policy/edible-oil-body-sea-urges-govt-to-allow-coconut-oil-imports-amid-price surge?utm 3.https://www.newindianexpress.com/nation/2025/Jul/11/coconut-oil-prices-surge-300-in-a-year-amid-sharp-decline-in-production?utm
 

 

 

 

 

 

สรุปข่าวเด่นรายสัปดาห์ประจำวันที่ 21 - 25 กรกฎาคม 2568-2.pdf
Share :
Instagram