fb
ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีอีกครั้ง จุดกระแสเร่งเจรจาทั่วโลก

ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีอีกครั้ง จุดกระแสเร่งเจรจาทั่วโลก

โดย
suwaparbs@ditp.go.th
ลงเมื่อ 08 กรกฎาคม 2568 11:00
48

 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความผ่าน Truth Social ลงวันที่ 7 ก.ค. 68 โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับสินค้าทุกชนิดจากประเทศไทยที่ส่งเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังโพสต์ประกาศขึ้นภาษีอีกหลายฉบับถึงประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย คาซัคสถาน และตูนิเซียในอัตรา 25% ขณะที่แอฟริกาใต้จะขึ้นภาษีนำเข้าที่ 30% และลาวและเมียนมา 40% ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ได้แก่ อินโดนีเซีย 32% บังกลาเทศ 35% กัมพูชา 36% บอสเนีย 30% และเซอร์เบีย 35%

      ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาหลายประเทศพยายามหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเพราะภาษีนำเข้าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลายประเทศพยายามเสนอมาตรการที่คาดว่าประธานาธิบดี ทรัมป์อาจตอบรับ อาทิ อินโดนีเซียเสนอซื้อสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯ เพิ่มอีก 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเสนอปรับลดอุปสรรคทางการค้าและจัดซื้อเครื่องบินที่ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่ม และญี่ปุ่นก็พร้อมซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขณะที่เส้นตายวันที่ 9 ก.ค. 68 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งไว้ใกล้เข้ามา ความพยายามเหล่านี้กลับดูไร้ผล จดหมาย 14 ฉบับที่ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ ส่วนใหญ่ส่งถึงประเทศในเอเชีย โดยอัตราภาษีที่ระบุในจดหมายแทบไม่ต่างจากที่กำหนดไว้ในเดือนเม.ย. 68 ก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศระงับมาตรการภาษีออกไป 90 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เจรจาหาข้อตกลงที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการสร้างการค้าที่สมดุลย์มากขึ้น

      ประธานาธิบดีทรัมป์เขียนไว้ในจดหมาย ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกันแทบทั้งหมด ต่างกันเพียงชื่อประเทศ “เราได้ใช้เวลาหลายปีในการหารือความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการขาดดุลการค้าในระยะยาวที่เกิดจากนโยบายภาษีและอุปสรรคทางการค้าของไทย”

     การประกาศเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่นี้ทำให้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญว่าจะดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไร ในเมื่อกระบวนการเจรจาเต็มไปด้วยความล่าช้า และมีการเปลี่ยนแปลงวันเดดไลน์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

     นายมานู ภัสการัน ประธานบริษัทวิจัย Centennial Asia Advisors กล่าวว่า “หลายประเทศในเอเชียจะตั้งคำถามว่า ‘นี่คือวิธีที่สหรัฐฯ ปฏิบัติต่อมิตรหรือ คำขู่ที่รุนแรงและภาษาที่ไม่เป็นมิตรเช่นนี้จะสร้างความเสียหายถาวรต่อภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเอเชียและที่อื่นหรือไม่

     ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่สร้างเศรษฐกิจขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดตะวันตก คำประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์เปรียบเสมือนการบอกว่าความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างกันต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง และปฏิกิริยาตอบโต้ของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะส่งผลต่อทั้งทิศทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว ตามการคำนวณของบริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลกมอร์แกน สแตนลีย์ ตั้งแต่ภาษีนำเข้ารถยนต์และเหล็กที่ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกเก็บก่อนหน้านี้ รวมไปถึงภาษีที่เกี่ยวข้องกับสารเฟนทานิล อัตราภาษีเฉลี่ยสำหรับสินค้านำเข้าจากเอเชียจะพุ่งจาก 4.8% ในเดือนม.ค. 68 เป็น 27% หากอัตราภาษีที่ประกาศทั้งหมดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม และอาจเพิ่มขึ้นอีกหากสหรัฐฯ ดำเนินการตามแผนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทยาและเซมิคอนดักเตอร์

     นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าภาษีดังกล่าวที่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าเป็นเครื่องมือฟื้นฟูภาคการผลิตในประเทศและเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลกลางจะทำให้มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลง ทั้งบริษัทอเมริกันและคู่ค้าต่างประเทศจะเผชิญกับกำไรที่ลดลง เนื่องจากภาระภาษีจะถูกกระจายไประหว่างผู้บริโภค, ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ส่งผลให้บริษัทมีเงินเหลือจ่ายค่าจ้างและลงทุนในธุรกิจน้อยลง

     บางประเทศที่ได้รับจดหมายจากประธานาธิบดีทรัมป์ในวันจันทร์แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มา 13 ปีแล้ว ส่งผลให้ภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศแทบเป็น 0 ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ นายอี แจ มยอง พยายามเสนอความร่วมมือในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมต่อเรือของสหรัฐฯ โดยส่งทั้งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติไปพบเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่เกาหลีใต้ก็ยังคงถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% เท่ากับที่เคยถูกระงับไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้มาตรการภาษีใหม่จะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งยังมีช่วงเวลาในการเจรจา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรจะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์เปลี่ยนใจ

     ผู้นำหลายประเทศในเอเชียแสดงความผิดหวังที่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ แม้จะพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่อง คณะผู้แทนจากประเทศไทยเพิ่งเข้าพบนาย Jamieson Greer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังถูกเก็บภาษี 36% ตามการประกาศในวันจันทร์

     นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวว่า “ผมคิดว่ามันขัดแย้งกันอยู่เพราะเราก็เจรจากับผู้แทนการค้าซึ่งเป็นตัวแทนที่สหรัฐฯ แต่งตั้งมา แต่ทำเนียบขาวหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ยังคงส่งจดหมายมาอีก”

image.png

     ความสับสนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในทวีปเอเชียเท่านั้น สินค้าจากแอฟริกาใต้จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 30% ประธานาธิบดีรามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่าอัตราภาษีนำเข้าดังกล่าวเป็นการตีความที่แตกต่างกันในเรื่องดุลการค้าของทั้ง 2 ประเทศ และตั้งข้อสังเกตว่าสินค้าของสหรัฐฯ ประมาณ 3 ใน 4 ส่วน สามารถขายในแอฟริกาใต้ได้โดยไม่มีภาษีนำเข้าใดๆ นอกจากนี้ประธานาธิบดีรามาโฟซาเคยพยายามเรียกร้องจากสหรัฐฯ ว่าแอฟริกาใต้สามารถพึ่งพาสหรัฐฯ ให้เป็นตลาดสินค้าและแหล่งลงทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจแอฟริกากำลังเผชิญกับอัตราว่างงานสูงและการเติบโตต่ำ แต่หลังได้รับจดหมายจากประธานาธิบดีทรัมป์ เขาได้เรียกร้องให้นักธุรกิจและบริษัทแอฟริกาใต้เร่งกระจายตลาดเพื่อลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ

     หนึ่งในเบาะแสสำคัญที่บ่งชี้ว่าประธานาธิทรัมป์ต้องการอะไรกันแน่คือข้อตกลงทางการค้าล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม โดยเวียดนามยอมรับการเก็บภาษีนำเข้า 40% กับสินค้าที่ถูกส่งผ่านจากจีนมายังเวียดนาม ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีสินค้าจากจีนโดยตรงมากขึ้น ถ้อยคำในจดหมายจากประธานาธิบดีทรัมป์ก็สะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า “สินค้าที่ผ่านแดนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูง จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงยิ่งกว่า” นั่นหมายความว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังบีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับจีนหรือกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ทั้งตัดสินใจและปฏิบัติได้ยากต่อหลายประเทศ

      สำหรับบางประเทศ จีนอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าสหรัฐฯ เพราะจีนเสนอทั้งเงินลงทุนและตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ เช่น คาซัคสถานซึ่งถูกสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเก็บภาษี 25% ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเลือกข้างระหว่างสองมหาอำนาจ สหรัฐฯ เคยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในคาซัคสถานโดยเฉพาะในโครงการน้ำมันและก๊าซ แต่การลงทุนชะลอลงในช่วงหลังก่อนจะฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2024 เมื่อรัฐบาลออกใบอนุญาตให้ทำเหมืองมากขึ้นและการค้นพบแหล่งแร่หายากใหม่ในคาซัคสถาน

     เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคาซัคสถานประกาศความร่วมมือกับจีนในด้านพลังงาน อวกาศ เกษตรกรรม และอีคอมเมิร์ซ ประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ระบุหลังพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าความสัมพันธ์กับจีนและคาซัคสถานได้เข้าสู่ยุคทอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนไม่เรียกร้องเงื่อนไขทางการเมืองใดๆ เพื่อแลกกับความร่วมมือจากคาซัคสถาน

     แม้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพยายามกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ มานานแล้ว แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงจนทำให้ราคาสินค้าแพงเกินกว่าผู้บริโภคอเมริกันจะยอมจ่าย ประเทศเหล่านี้ก็แทบไม่มีทางเลือกอื่น ในขณะเดียวกัน ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เต็มไปด้วยสินค้าจากจีนที่เร่งส่งออกเพื่อพยุงเศรษฐกิจของจีนเอง ทำให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น และส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่อง      มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่รู้สึกว่าตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายของสหรัฐฯ ขณะที่ทางเลือกอื่นก็ยังไม่น่าสนใจหรือมีศักยภาพเทียบเท่า

     นายลี เฮง กวี ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ-สังคมแห่งมาเลเซียกล่าวว่า “ผู้ส่งออกมาเลเซียต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่แข่งขันได้น้อยลงในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่พยายามหาตลาดใหม่ในประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญกับระบบการค้าที่เป็นธรรมและยึดหลักกติกา”

นอกจากนี้ หลายประเทศยังจับตามองว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคหรือไม่ เพราะผู้นำเข้าชาวอเมริกันก็เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เสียภาษีน้อยกว่า นายแพทริก ซุง เจ้าของบริษัทในพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ซึ่งรับออกแบบและผลิตสินค้าหลากหลาย เช่น กระเป๋าเดินทาง อุปกรณ์การแพทย์ และอุปกรณ์กล้องในเอเชีย กล่าวว่าเขากำลังรอความชัดเจนเรื่องภาษี ก่อนจะตัดสินใจว่าจะใช้โรงงานในเวียดนาม จีน ไทย หรือฟิลิปปินส์ ในการผลิตสินค้า

     

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ข้อมูลอ้างอิง The New York Times

Share :
Instagram