fb
อุตสาหกรรมแฟชั่นของสเปนมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
ลงเมื่อ 23 กรกฎาคม 2568 15:20
9

สเปนในปี 2025 กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างแท้จริง หนึ่งในโครงการสำคัญที่เปิดตัวเมื่อไม่นานนี้คือโครงการ RE-VISTE ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Circular Economy) และเป็นไปตามกฎหมายสเปน Ley 7/2022 ว่าด้วยของเสียและดินปนเปื้อนรวมถึงข้อกำหนดของสหภาพยุโรป Directive 2008/98/EC.

 

RE-VISTE เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และบริษัทแฟชั่นรายใหญ่ของประเทศ เช่น Inditex, Mango, Tendam และ Decathlon ซึ่งรวมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติใหม่ในการจัดการกับเสื้อผ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือค้างสต๊อกโดยเน้นการหลีกเลี่ยงการเผาทำลายและทิ้งในหลุม ฝังกลบ และแทนที่การนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผ่านระบบการแยกและการลดความชื้นแบบเฉพาะทาง

 

ในปัจจุบัน สเปนผลิตเสื้อผ้ากว่า 100,000,000 ชิ้นต่อปี แต่มีอัตราการรีไซเคิลต่ำกว่า 13% ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้โครงการยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักด้านวัฒนธรรมแฟชั่นและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นสามารถนำไปใช้ซ้ำในระดับชาติและระดับสากลได้

 

รูปภาพ2.png

 

5 อันดับผู้นำแฟชั่นของสเปนกับการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลง

รายงานอุตสาหกรรมแฟชั่นล่าสุดของ Modees เปิดเผยรายชื่อ บริษัทแฟชั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสเปนประจำปี 2025 โดย Inditex ยังคงครองตำแหน่งอันดับหนึ่งด้วยยอดขายและการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มบริษัท Inditex ประกอบด้วยแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ เช่น Zara, Pull&Bear, Massino Dutti, Bershka, Stradivarius และ Oysho ซึ่งนอกจากบริษัท Inditex แล้วนั้น ยังมีบริษัทผู้นำแฟชั่นที่แข็งแกร่งทั้งในเชิงแบรนด์และนวัตกรรม เช่น Mango, Tendam, El Corte Inglés และ Puig

 

ความสามารถในการรักษาตำแหน่งผู้นำด้านแฟชั่นเหล่านี้ไม่ได้มาจากยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และความยืดหยุ่นในการปรับกลยุทธ์ ที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการจัดการของเสียสิ่งทอ โดยการที่บริษัทเหล่านี้เข้าร่วมในโครงการ RE-VISTE จึงตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวที่จะไม่เพียงแค่เป็นผู้นำด้านแฟชั่นในปัจจุบันแต่ยังเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้นำในยุคของแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Fashion) และนวัตกรรมอย่างแท้จริง

 

รูปภาพ3.png

 

แนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสในการลงทุนในภาคแฟชั่น

อุตสาหกรรมแฟชั่นในสเปนไม่ได้เป็นเพียงแค่แรงขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ประเทศ แต่ยังเป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าร่วมในตลาดที่มีเสถียรภาพ แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องการลงทุนในภาคแฟชั่นไม่ใช่เพียงเพื่อผลกำไรระยะสั้นแต่เป็นการลงทุนที่สะท้อนศักยภาพการเติบโตในอนาคตจากแนวทางใหม่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ และการปรับตัวตามฎหมายของสหภาพยุโรป

 

การนำเข้าสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอของสเปน

 

รูปภาพ4.png

 

รูปภาพ5.png

 

รูปภาพ6.png

 

คำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากร

พิกัด 50 ไหม

พิกัด 51 ขนแกะ ขนละเอียดหรือขนหยาบของสัตว์ ด้ายขนม้าและผ้าทอ 

พิกัด 52 ฝ้าย 

พิกัด 53 เส้นใยสิ่งทอจากพืชอื่นๆ ด้ายกระดาษ และผ้าทอจากด้ายกระดาษ

พิกัด 54 ใยยาวประดิษฐ์ แถบและวัตถุประดิษฐ์ที่คล้ายกัน 

พิกัด 55 ใยสั้นประดิษฐ์  

พิกัด 56 แวดดิ้ง สักหลาดและผ้าไม่ทอ ด้ายชนิดพิเศษ เชือกชนิดทไวน์ ชนิดคอร์เดจ ชนิดโรปและเคเบิล และของทำด้วยสิ่งดังกล่าว 

พิกัด 57 พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่นๆ 

พิกัด 58 เส้นใยสิ่งทอจากพืชอื่นๆ ด้ายกระดาษ และผ้าทอจากด้ายกระดาษ 

พิกัด 59 ผ้าสิ่งทอ ที่อาบซึม เคลือบ หุ้มหรืออัดเป็นชั้น ของทำด้วยสิงทอชนิดที่เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม

พิกัด 60 ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ 

พิกัด 61เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์

พิกัด 62 เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์

พิกัด 63 ของทำด้วยสิ่งทอที่จัดทำแล้วอื่นๆ ของเป็นชุดเสื้อผ้าที่ใช้แล้วและของที่ใช้แล้วทำด้วยสิ่งทอ ผ้าขี้ริ้ว 

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

สเปนกำลังวางตำแหน่งตนเองให้เป็นศูนย์กลางแฟชั่นชั้นนำของยุโรปด้วยการผสานระหว่างความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในโครงการ โครงการ RE-VISTE ถือเป็นตัวอย่างของความก้าวหน้าที่มีเป้าหมายชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมาย และสามารถขยายผลได้จริงในระดับสากล อุตสาหกรรมแฟชั่นของสเปนไม่ได้เป็นเพียงแค่รักษาความเป็นผู้นำแต่ยังเติบโตด้วยแนวทางที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมแฟชั่นในสเปนถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ผู้ประกอบการแฟชั่นไทยควรจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับกระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุ และแนวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและตอบโจทย์ตลาดยุโรปที่กำลังเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญ ไทยยังสามารถต่อยอดโอกาสจากเทรนด์นี้ด้วยการพัฒนาแบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ทั้งในยุโรปและตลาดโลกในระยะยาว

 

ที่มา: Modaes, La Razón, Global Trade Atlas, กระทรวงพาณิชย์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

กรกฎาคม 2568

อุตสาหกรรมแฟชั่นของสเปน 2025.pdf
Share :
Instagram