fb
ความพร้อมทุเรียนกัมพูชาในตลาดจีน
โดย
qiny@ditp.go.th
ลงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2568 09:00
16

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศพิธีสารว่าด้วย “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากกัมพูชา” ที่ลงนามระหว่างสำนักงาน GACC กับกระทรวงกสิกรรม การป่าไม้ และการประมงกัมพูชา โดยระบุว่าจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป โดยอนุญาตให้ผ่านเข้าด่านที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้ของประเทศจีน

ประกาศดังกล่าวมีข้อกำหนดด้านการจัดการสวน ได้แก่ การควบคุมศัตรูพืช การรักษาความสะอาด และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) รวมถึงการตรวจสอบ ย้อนกลับต้นทางผลผลิต ขณะเดียวกัน โรงคัดบรรจุต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาต มีระบบแยกพื้นที่ผลิตที่ชัดเจน และดำเนินการคัดแยกผลไม้ที่มีคุณภาพเท่านั้น นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการป้องกันศัตรูพืช 6 ชนิดที่อาจมากับผลไม้ เช่น เพลี้ยแป้งและเชื้อรารากขาว โดยระบุว่าหากตรวจพบในระหว่างนำเข้า อาจสั่งระงับการนำเข้าทั้งล็อต รวมถึงระงับสวนหรือโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ สินค้าทุเรียนจากกัมพูชาทุกล็อตที่ส่งไปจีน ต้องแนบใบรับรองสุขอนามัยพืชที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลของกัมพูชา และผ่านการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และเอกสารตามระเบียบของจีนอย่างเคร่งครัด

เดือนมิถุนายน สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนทำการตรวจสอบความสอดคล้องของพิธีสารผ่านระบบออนไลน์สำหรับการส่งออกทุเรียนสดกัมพูชาไปจีน และเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568กระทรวงกสิกรรม การป่าไม้ และการประมงกัมพูชาแถลงว่า สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนเสร็จสิ้นการประเมินอุตสาหกรรมทุเรียนกัมพูชา โดยมีสวนปลูกทุเรียนจำนวน 112 แห่ง และโรงคัดบรรจุจำนวน 30 แห่งผ่านการรับรอง ซึ่งกิจการที่ผ่านการรับรองทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐาน GAP เงื่อนไขสุขอนามัยพืช และมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของจีน 

ข้อมูลปี 2567 กัมพูชามีพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวน 10,454 เฮกตาร์ หรือประมาณ 65,337.5 ไร่ โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ 6,908 เฮกตาร์ หรือประมาณ 43,175 ไร่ มีผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศ จำนวน 112,110 ตัน โดยทุเรียนส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ และมีการส่งออกปริมาณ 142 ตัน คือ เป็นการส่งออกไปประเทศไทย จำนวน 86 ตัน ฝรั่งเศส จำนวน 53 ตัน และนอร์เวย์ จำนวน ตัน ชาวสวนในเมืองบันลองระบุว่าราคาทุเรียนปีนี้ใกล้เคียงของปีก่อน อุปสงค์-อุปทานสมดุล ปัจจุบันราคาขายส่งทุเรียนจากสวนอยู่ที่ประมาณ 20,000 เรียลต่อกิโลกรัม (5 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งใกล้เคียงปีที่แล้ว

image.png

กัมพูชามี 9 จังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการปลูกทุเรียน ได้แก่ กำปงจาม ตะโบงคมุม รัตนคีรี มณฑลคีรี พระตะบอง โพธิสัตว์ เกาะกง กำปงธม และกำปอด โดยเฉพาะทุเรียนจากกำปอดซึ่งขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในประเทศ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม บางครั้งถึงต้นเดือนสิงหาคม

หลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนประกาศอนุญาติให้นำเข้าทุเรียนกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568 เมืองเป๋ยไห่ เขตปกครองฯ กว่างซีจ้วงได้ร่วมมือกัมพูชาจัดงานลงนามข้อตกลงความร่วมือทุเรียนและผลไม้อบแห้ง ซึ่งมีบริษัททั้งสองฝ่ายได้ลงนามจะจัดซื้อทุเรียนกัมพูชามูลค่า 1,600 ล้านหยวนเพื่อนำมาแปรรูปที่นิคมอุตสาหกรรมจีน-กัมพูชามี่เมืองเป๋ยไห่ โดยนิคมนี้จะมุ่งเน้นแปรรูปทุเรียนเป็นหลัก เช่น ทุเรียนอบแห้ง ซอสทุเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นประเทศที่ 5 ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดของจีนต่อจากประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย 

image.png

 ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าทุเรียนสดมีปริมาณมากที่สุด โดยนำเข้าทุเรียนสดจากไทย ปริมาณ 809,704 ตัน มูลค่า 4,016 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.9 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน สำหรับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนาม มีปริมาณ 736,397 ตัน มูลค่า 2,942 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.2 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด สำหรับการนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศฟิลิปปินส์ มีปริมาณ 13,376 ตัน มูลค่าประมาณ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.86 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด สำหรับการนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศมาเลเซีย มีปริมาณ 350 ตัน มูลค่าประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด

image.png

(ตัวเลขจาก GACC จีน)

จากตัวเลขการนำเข้าสังเกตได้ว่าหลังจากประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ประเทศจีน ตลาดทุเรียนในจีนมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทุเรียนของเวียดนาม

จากการวิเคราะห์ของตลาดขายส่งทุเรียนรายใหญ่ของจีนคาดการณ์ว่าในปี 2568 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศของจีนจะทะลุ 1.5 ล้านตัน มูลค่าตลาดมากกว่า 50,000 ล้านหยวน สำหรับมูลค่าตลาดการแปรรูปมากกว่า 10,000 ล้านหยวน 

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองหนานหนิง : หลังจาก GACC ประกาศอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากกัมพูชาอย่างเป็นทางการ คู่แข่งที่มีศักยภาพของทุเรียนไทยในตลาดจีนจะเพิ่มขึ้นอีกราย แต่หากมองในระยะใกล้แล้ว กัมพูชายังต้องเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับทุเรียนไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากพันธุ์ทุเรียนของกัมพูชายังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนหมอนทองของไทย หรือมูซังคิงของมาเลเซีย และผู้บริโภคชาวจีนอาจยังไม่มีความเชื่อมั่นในรสชาติและคุณภาพทุเรียน นอกจากนี้ ทุเรียนกัมพูชามีแนวโน้มที่จะมีราคาสูง เนื่องจากปัญหาแรงงานและพื้นที่เพาะปลูกยังมีไม่มากหากเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น รวมถึงระบบโลจิสติกส์การขนส่งสู่ตลาดจีนยังไม่สมบูรณ์ สำหรับทุเรียนไทยในปัจจุบันมีภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดจีน โดยที่ทุเรียนไทยมีจุดแข็งที่รสชาติอร่อย เนื้อละเอียด หวานมัน มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของทุเรียนไทย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน แหล่งกำเนิดต้องผ่านมาตรฐานการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี โรงงานแปรรูปต้องผ่านมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตของผู้ผลิต และต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยไร้สารตกค้าง เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยให้กับผู้บริโภคจีน ทำให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันและรักษาตลาดได้อย่างยั่งยืน

----------------------------------------------------------------------------

แหล่งที่มา

http://www.customs.gov.cn/customs/302249/302266/302267/6489376/index.html

https://mp.weixin.qq.com/s/_tqpTfUN9gX2rqkmuXnBpA

https://mp.weixin.qq.com/s/UDMu16zOWQlLN1Zlii3_QA

https://mp.weixin.qq.com/s/QRZEjanqLYFCEocND-rxLw

http://stats.customs.gov.cn/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง 

วันที่ 16 กรกฎาคม 2568

ข่าวเด่นรายสัปดาห์จากประเทศจีนประจำวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2568 - ทุเรียนกัมพูชา.pdf
Share :
Instagram