งานแสดงสินค้า GreenTech Amsterdam 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10–12 มิถุนายน 2025 ณ ศูนย์แสดงสินค้า RAI Amsterdam กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่รวบรวมนวัตกรรมและโซลูชันด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคส่วนของพืชสวนและการเพาะปลูกภายใต้ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมหรือเทคโนโลยี Green House งานในปีนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 550 ราย จาก 41 ประเทศ และมีผู้เข้าชมงานกว่า 12,800 คน จากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และแคนาดา สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ GreenTech ในฐานะเวทีเชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเกษตรกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวระดับโลก
แนวคิดหลักและธีมของงานในปีนี้คือ คือ Passion ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมพืชสวนร่วมสมัย ความหลงใหลในพืช ความยั่งยืน และการสร้างอนาคตที่ดีกว่า คือพลังที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โครงสร้างของงานในปีนี้ตั้งอยู่บนสี่เสาหลักที่สะท้อนประเด็นสำคัญของภาคพืชสวน ได้แก่ ผลผลิต (Crops) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสายพันธุ์และวิธีการปลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง น้ำ (Water) ซึ่งเป็นทรัพยากรจำเป็นที่ต้องจัดการอย่างยั่งยืนท่ามกลางภาวะขาดแคลน พลังงาน (Energy) ซึ่งส่งผลต่อทั้งต้นทุนการผลิตและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบุคลากร (People) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเครือข่าย ความรู้ และทักษะของผู้คนในอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาคปฏิบัติจริง
ภายในงาน GreenTech Amsterdam 2025 แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นโซนต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ Innovation Zone ซึ่งรวมเอานวัตกรรมใหม่ล่าสุดไว้ถึง 4 ส่วนหลัก ได้แก่ พื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (Renewables Hub) หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในเรือนกระจก (Robotics & AI Lab) ผลงานจากสตาร์ทอัพหน้าใหม่ (Startup Zone) และพื้นที่แสดงผลงานที่เข้าชิงรางวัลนวัตกรรมประจำปี (Nominees Showcase) ซึ่งล้วนสะท้อนแนวโน้มของเกษตรกรรมในอนาคต ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เทคโนโลยี ความแม่นยำ และความยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีเวทีองค์ความรู้ (Knowledge Program) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานและผู้เข้าชมงานได้รับฟังการบรรยายและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในหลากหลายหัวข้อ อาทิ เทคโนโลยีแสงสังเคราะห์ การเกษตรแนวตั้ง การเพาะปลูกพืชสมุนไพร การใช้ AI และระบบข้อมูลในกระบวนการผลิต ตลอดจนการออกแบบระบบการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในงานนี้ คือการจัดการทรัพยากรน้ำและความชื้นภายในโรงเรือน ซึ่งมีบทบาทต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตโดยตรง ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำในหลายภูมิภาค ส่งผลให้ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับตัวด้วยระบบให้น้ำที่มีความแม่นยำสูง เช่น ระบบให้น้ำแบบหยด (Drip Irrigation) ที่ใช้ Sensor วัดความชื้นในดินร่วมกับระบบ AI เพื่อคำนวณปริมาณน้ำที่เหมาะสม รวมถึงระบบรีไซเคิลน้ำที่สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดการปนเปื้อน ทั้งนี้ สิ่งที่ควบคู่กับการจัดการน้ำคือระบบควบคุมความชื้นในโรงเรือน (Humidity Control) ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ความชื้นที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อราและโรคพืช ขณะที่ความชื้นต่ำอาจทำให้พืชคายน้ำมากเกิน ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอระบบเพิ่มความชื้น (Humidification) ผ่านเครื่องพ่นหมอกแรงดันสูง (Fogging System) ที่ให้ละอองน้ำละเอียดโดยไม่ทำให้พื้นเปียก และระบบลดความชื้น (Dehumidification) ที่สามารถดูดซับความชื้นจากอากาศโดยไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิภายในโรงเรือน ทั้งสองระบบสามารถทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติที่ควบคุมด้วย Sensor และซอฟต์แวร์ควบคุมสภาพแวดล้อมแบบครบวงจร ซึ่งช่วยสร้างสมดุลในโรงเรือนและลดความเสี่ยงจากโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของนวัตกรรมที่น่าสนใจภายในงานนี้ ได้แก่ การเพาะปลูกแบบ “Dry Hydroponics” หรือระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ออกแบบให้ส่วนล่างของใบพืชไม่สัมผัสกับน้ำโดยตรง โดยใช้แผ่นลอยน้ำเจาะช่องสำหรับวางต้นกล้า ซึ่งส่วนรากจะอยู่ในน้ำเพื่อสามารถรับสารละลายธาตุอาหาร ขณะที่ใบและโคนต้นยังแห้งอยู่เหนือผิวน้ำ ทำให้ลดความชื้นบริเวณโคนพืช ป้องกันเชื้อราและโรคเน่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พืชที่ได้จึงมีลำต้นแข็งแรงและอัตราการสูญเสียต่ำกว่าเมื่อเทียบกับระบบไฮโดรโปนิกส์ทั่วไป อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ กระถางเพาะปลูกย่อยสลายได้ที่สามารถทำหน้าที่เป็นปุ๋ยในตัว โดยทำจากวัสดุอินทรีย์ เช่น เส้นใยพืช แกลบ หรือเยื่อกระดาษอัดแน่น ซึ่งเมื่อฝังลงดินจะค่อย ๆ ย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดขยะจากพลาสติก และเสริมธาตุอาหารให้กับพืชโดยตรง อีกทั้งยังมีการออกแบบให้เหมาะกับการใช้ในระบบเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ เช่น การปลูกผักแนวตั้งและในโรงเรือนขนาดใหญ่
ในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ได้มีการแสดงระบบแขนกลปลูกต้นไม้ (Planting Robot) หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวที่ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหุ่นยนต์ดูแลใบพืชด้วยการใช้ AI ตรวจจับโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีและแรงงานมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรือนกระจกขนาดใหญ่และฟาร์มแนวตั้งที่ต้องการความแม่นยำสูง
ในด้านการจัดการธาตุอาหารพืช มีการนำเสนอปุ๋ยธรรมชาติที่ปราศจากสารตกค้าง ผลิตจากวัสดุชีวภาพ เช่น สาหร่ายทะเล ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด ไม่ทิ้งคราบเคมีสะสมในดิน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่ต้องการเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือตลาดส่งออกที่ต้องการสินค้าปลอดสาร
ภายในงานยังมีโซนอุปกรณ์การเพาะปลูกและระบบเรือนกระจกแบบครบวงจร เช่น โต๊ะปลูกแบบเคลื่อนย้ายได้ ระบบแสงไฟ LED สเปกตรัมเฉพาะทาง แผ่นเพาะกล้าแบบอัตโนมัติ ไปจนถึง Sensor ตรวจวัดค่าดินและน้ำ และยังมีการนำเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงอย่าง Hologram และ AR (Augmented Reality) มาจำลองสภาพการเพาะปลูกในโรงเรือนและฟาร์มแนวตั้ง เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถเข้าใจระบบการทำงานของแต่ละเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจนแบบมีส่วนร่วม
GreenTech Amsterdam 2025 มิได้เป็นเพียงเวทีสำหรับการจัดแสดงสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีการเกษตรเท่านั้น แต่เป็นเวทีระดับนานาชาติที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และนักกำหนดนโยบาย ตลอดจนการวางรากฐานสำหรับระบบเกษตรกรรมแห่งอนาคต งานในปีนี้ได้แสดงให้เห็นทิศทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะปลูกพืชที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมภายใต้หลักการสำคัญสามประการ ได้แก่ ความยั่งยืน ความแม่นยำ และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของโลก พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว นับเป็นการสะท้อนอย่างชัดเจนว่า เกษตรกรรมยุคใหม่มิใช่การผลิตเพียงอย่างเดียว หากคือการปรับใช้ “นวัตกรรม” ซึ่งผสมผสานธรรมชาติและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
งานแสดงสินค้า GreenTech Amsterdam 2025 สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางใหม่ของภาคเกษตรกรรมของโลกที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ “เกษตรแม่นยำ” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในภาคพืชสวน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอาหารอย่างยั่งยืน หลายเทคโนโลยีที่จัดแสดงในงาน GreenTech Amsterdam 2025 เช่น ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ การจัดการน้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์พืช ไปจนถึงการลดการใช้ทรัพยากรผ่านนวัตกรรมวัสดุชีวภาพ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการมองอนาคตแบบบูรณาการที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายด้านทรัพยากรชีวภาพ ภูมิอากาศ และพันธุ์พืชท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาเกษตรดั้งเดิม การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้ไม่ควรมองเพียงในมิติของการนำเข้าอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี แต่ควรมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อสามารถพัฒนาแนวทางเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับภูมิภาคของตนเอง ความท้าทายสำคัญของการเกษตรไทยในยุคนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มผลผลิต แต่คือการผลิตอย่างยั่งยืนให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคและตลาดโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วม เข้าชม และติดตามนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรในงานแสดงสินค้า GreenTech จึงเป็นโอกาสอันดีในการเปิดโลกทัศน์ ขยายความร่วมมือ และเรียนรู้จากประเทศที่มีเทคโนโลยีและระบบเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า เพื่อให้สามารถนำแนวคิดระดับโลกมาปรับใช้ หรือสามารถสร้างนวัตกรรมแบบไทยที่สอดคล้องกับทั้งเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างแท้จริง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก