รัฐบาลเคนยา โดยหน่วยงาน PPRA (Public Procurement Regulatory Authority) ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องระเบียบการจัดชื้อและจัดจ้างภาครัฐของเคนยา ได้ประกาศแบล็กลิสต์ บริษัท EAA Company Ltd หรือชื่อเดิม East Africa Automobile Services ซึ่งเป็นบริษัทจากญี่ปุ่นที่ได้รับสิทธิ์ตรวจสอบรถยนต์นำเข้าก่อนส่งมาที่เคนยา รายสำคัญมากที่สุดรายหนึ่งในเคนยา
EAA Company Ltd (เดิม East Africa Automobile Services) ถูก PPRA แบนเป็นเวลา 3 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 เนื่องจากใช้ เอกสารปลอม ในการยื่นประมูลการจัดชื้อรถยนต์ภาครัฐของ KEBS ปี 2011, 2014 และ 2019 ซึ่งตามคำพิพากษาของ PPRA และตามคำร้องของ Auditor General, PIC และ DCI ระบุความผิดว่า “บริษัทได้ใช้เอกสารปลอมเพื่อยื่นประมูล” ซึ่งต่อมาถึงแม้ EAA จะยื่นฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อหยุดการแบล็กลิสต์ ว่าบริษัททนายที่เป็นผู้ร้องในเรื่องนี้ต่อหน่วยงานของเคนยา เป็นทนายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ว่าความในเคนยาได้ หรือ “ทนายปลอม” แต่ ศาลก็ได้ให้คำรับรองคำสั่งของ PPRA ยังคงมีผล และศาลแขวงได้ยกเลิกคำร้องของ EAA และตัดสินให้มีการคุ้มครองพิเศษต่อคำสั่งนี้เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ซึ่งตามรายงานของ Special Audit ของ Auditor General พบว่า EAA และ ATJ ได้ยื่นเอกสารปลอม เช่น เหตุผลในการอ้างว่ามีสาขาในหลายประเทศ จำนวนศูนย์ตรวจสภาพที่สูงเกินจริง และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนและคุณสมบัติเทคนิคของรถยนต์ที่นำเข้ามาที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งนำมาซึ่งการสอบสวนของสำนักงานตำรวจของเคนยา (DCI) และ Interpol สรุปว่าบริษัททั้งสองรายมีพฤติการณ์ปลอมแปลงเอกสารและให้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อให้ได้งานประมูล จึงได้มีคำสั่ง แบล็กลิสต์บริษัทตรวจสอบรถยนต์จากญี่ปุ่น ดังกล่าว
โดยที่ PPRA ได้มีคำสั่งล่าสุดที่มีแบล็กลิสต์บริษัทอีกครั้งในเดือน กรกฎาคม 2025 นี้ จะทำให้มีผลต่อบริษัท ดังนี้
ห้ามบริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการของรัฐในเคนยาเป็นเวลา 3 ปี
หน่วยงานมาตรฐานของเคนยา (KEBS) ขอให้ PPRA ขยายผลแบล็กลิสต์ไปยังบริษัทญี่ปุ่นอีกแห่งคือ Auto Terminal Japan (ATJ) ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงเช่นกัน
ส่งผลต่อการประมูลในประเทศเพื่อนบ้านอื่นที่เป็นตลาดส่งรถยนต์มือสอง เช่น แทนซาเนีย และ ยูกันดา โดยประเทศเหล่านี้อาจปฏิเสธไม่ให้บริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์ในเคนยามีสิทธิ์เข้าร่วมการตรวจรถยนต์นำเข้าที่ส่งไปประเทศเหล่านี้ได้อีกทาง
การตรวจสอบที่ไม่โปร่งใสส่งผลให้รถยนต์นำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานอาจผ่านเข้าสู่ตลาด
การดำเนินการครั้งนี้ของเคนยา เป็นสัญญาณเข้มงวดเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการนำเข้ารถยนต์
ตลาดรถยนต์นำเข้าในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกอาจต้องเปลี่ยนผู้ให้บริการตรวจสอบจากญี่ปุ่นบางรายอาจส่งผลให้การนำเข้าล่าช้าหรือส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นได้
ความเห็นของ สคต.
จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าในกรณีนี้คือรถยนต์มือสองจากต่างประเทศ โดยเคนยามีแหล่งนำเข้าสำคัญจาก ญี่ปุ่น UAE อังกฤษและไทย ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านจะต้องผ่านบริษัทที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงาน PPRA (Public Procurement Regulatory Authority) ก่อนมีการนำเข้าทุกครั้ง ซึ่งในเรื่องนี้ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นถึงคุณภาพรถยนต์ที่มีการนำเข้ามาในเคนยาในระยะสั้น แต่ก็แสดงถึงความจริงจังให้ผู้นำเข้าจะต้องปฎิบัติตามระเบียบและมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ และเป็นการปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ รถยนต์ที่มีการใช้งานในแอฟริกา เช่น เคนยา กว่า 80% เป็นรถยนต์มือสองที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยรถยนต์จากญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ของรถที่มีการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งยี่ห้อที่ได้รับความนิยมได้แก่ TOYOTA NISSAN HONDA มีรถยนต์ของยี่ห้อเหล่าถึงกว่า 75% ของรถที่ใช้งานในเคนยาในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยนั้น การส่งออกรถยนต์มือสองของไทยมีการนำเข้ามาประมาณปีละ 1,000-2,000 คันต่อปี (ประมาณการจากสอบถามกับผู้นำเข้าหลายราย) ซึ่งรถที่มีการนำเข้าจะเป็นรถกะบะมือสองยี่ห้อต่างๆ เช่น Toyota รุ่น Hilux และ Fortuner , Mitsubishi Starda และ Ford Ranger นอกจากนั้น แม้จะเป็นรถที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น หลายรุ่นก็เป็นรถที่ผลิตในประเทศไทย ทำให้มีความต้องการอะไหล่รถยนต์จากไทย เป็นจำนวนมากตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การนำเข้าอะไหล่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าโดยผ่าน Trader ในดูไบเป็นหลัก ไม่ได้นำเข้าตรงจากไทย เนื่องจากติดข้อจำกัดในเรื่อง ระยะเวลาในการขนส่งที่นานกว่า และเงื่อนไขการนำเข้าที่ต้องนำเข้าเต็มตู้ทำให้ไทยยังทำตลาดโดยตรงได้ไม่มากนัก สคต.เห็นว่า การที่ผู้ส่งออกสินค้าข้างต้นควรปรับเงื่อนไชในการส่งออกและปรับปรุงวิธีการส่งออกนั้น โดยให้รวมสินค้าได้หลายอย่างในตู้เดียวนั้น อาจเป็นทางออกที่จะทำให้ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นได้ ทั้งนี้ จากข่าวข้างต้น อาจส่งผลกระทบให้ผู้ชื้อชะลอการนำเข้ารถยนต์มือสองจากญี่ปุ่นได้และอาจนำเข้าโดยตรงจากไทยมากขึ้น แต่คงเป็นผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องควรต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดทำเอกสารและได้รับการตรวจสอบจากบริษัทที่ไม่อยู่ในรายชื่อแบล็กลิสต์บริษัทตรวจสอบรถยนต์ต่อไป และคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพรถที่จะส่งออกมามากขึ้นด้วย ในส่วนของอะไหล่รถยนต์นั้น หากสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการและเงื่อนไขในการส่งออกให้เหมาะสมกับตลาดมากขึ้น ก็อาจจะสามารถขยายการส่งออกสินค้ามาเคนยาโดยตรงได้มากขึ้นในอนาคต
ผู้ส่งออกหรือนักธูรกิจที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke