ข้อมูลล่าสุดของ หนังสือพิมพ์ Business Daily ระบุว่า เคนยา มีสัดส่วนถึง 43% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) กับสหภาพยุโรป (EU) หรือประมาณ 3.3 พันล้านยูโร จากการค้ารวมที่มีมูลค่าประมาณ 7.7 พันล้านยูโร ในปี 2024 นอกจากนี้ เคนยายังเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากยุโรปเข้าสู่ภูมิภาค EAC มากที่สุด โดยมีสัดส่วนประมาณ 45% ของการลงทุนจาก EU ที่หลั่งไหลเข้าสู่ EAC
เหตุผลที่เคนยาครองความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นใน EAC
ขนาดเศรษฐกิจและความหลากหลาย - เคนยาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EAC มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาและภาคการผลิตที่หลากหลายกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
เคนยากับข้อตกลง EPA กับสหภาพยุโรป - เคนยาเป็นประเทศเดียวใน EAC ที่ลงนามและให้สัตยาบัน ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EconomicPartnership Agreement - EPA) กับ EU ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ซึ่งข้อตกลงนี้ให้สิทธิพิเศษกับสินค้าเคนยา เช่น ส่งออกไปยุโรปโดยปลอดภาษีและไม่จำกัดโควตา ขณะที่ประเทศอื่นยังไม่ได้รับสิทธิตามข้อตกลงนี้
โครงสร้างสินค้าส่งออกที่แข็งแกร่ง - สินค้าหลักของเคนยาที่ส่งออกไปยุโรป ได้แก่ กาแฟ ดอกไม้สด อะโวคาโด ยาสูบ โกโก้ ปลาแช่แข็ง (ปลานิลและกระพงน้ำจืด) ด้านนำเข้าสินค้าจากยุโรปประกอบด้วยสินค้าต่าง เช่น เครื่องจักร สารเคมี อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น
ผลกระทบต่อภูมิภาค EAC
ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของเคนยาใน EAC ส่งผลให้มีอิทธิพลต่อการเจรจาการค้าระดับภูมิภาคมากขึ้น
ประเทศอื่นใน EAC ได้แก่ ยูกันดา แทนซาเนีย รวันดา บุรุนดี และซูดานใต้ ยังคงได้รับสิทธิพิเศษจากโครงการ Everything-But-Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป แต่สิทธิภายใต้ EBA ไม่ครอบคลุมเท่าข้อตกลง EPA ที่เคนยาได้รับ
ข้อตกลง EPA ของเคนยา เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นใน EAC เข้าร่วม หากประเทศเหล่านั้นมีความพร้อม ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าของทั้งภูมิภาคในอนาคต
ส่องดูตลาดและคู่แข่งของเคนยาในสินค้าสำคัญ และแนวทางการส่งออกของเคนยาใน EU
(กาแฟ ดอกไม้ตัดสด และอะโวคาโด)
กาแฟ – เคนยายังมีจำนวนการส่งออกเทียบกับคู่แข่งไม่ติดลำดับ 5 อันดับแรก แต่มีแนวโน้มส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต เนื่องกาแฟเคนยามีคุณภาพสูง (Arabica) ต่างกับคู่แข่งสำคัญ เช่น บราซิล เวียดนาม ฮอนดูรัส และอินโดนีเชีย ที่ขาย Robasta เป็นหลัก โดยคู่แข่งสำคัญในตลาดบนคือ กาแฟจากโคลอมเบีย
แนวโน้มตลาด - การนำเข้า "กาแฟเขียว (ไม่คั่ว)" ยังคงสูง (ยึดส่วนแบ่ง 84% ของมูลค่าการนำเข้า) แต่ความต้องการกาแฟ decaffeinated และกาแฟคั่วเพิ่มขึ้นในอนาคต
ดอกไม้ตัดสด – เคนยาเป็นผู้ส่งออกที่ครองตลาด EU เป็นลำดับที่ 4 ตามหลัง เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย เอกวาดอร์ โดยมีคู่แข่งสำคัญจากแอฟริกาคือ เอธิโอเปีย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 487 ล้าน USD ต่อปี
แนวโน้มตลาด - EU เพิ่มมาตรการตรวจสอบ “False Codling Moth (FCM)” จาก 5% → 25% (พ.ค. 2024) ทำให้ผู้ส่งออกเคนยาต้องปรับตัวมากขึ้น ทำให้ระยะแรกอาจจะยังส่งออกได้น้อยลงบ้าง
อะโวคาโด – เคนยา เป็นผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดจากแอฟริกา แต่เป็นลำดับ 4-5 ของแหล่งนำเข้า ตามหลัง เปรู ชิลี โคลอมเบีย และมีคู่แข่งจากแอฟริกาคือ โมร็อกโก แอฟริกาใต้ โดยส่งออกประมาณ 161 ล้าน USD ต่อปี
แนวโน้มตลาด - EU นำเข้าอะโวคาโด 813,000 ตันต่อปี การบริโภคต่อหัวใน EU คงที่ที่ ~1.4 กก./คน/ปี แต่มีศักยภาพเติบโตสูงในยุโรปตะวันออก เคนยาควรวางแผนการปลูกและระบายสินค้าให้สอดคล้องกับฤดูกาลและความต้องการตลาด ซึ่งปัจจุบันสู้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่มีผลผลิตทั้งปีไม่ได้ ทำให้บางครั้งขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร
ความเห็นของ สคต.
จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เคนยามุ่งเน้นการขยายตลาดการค้าและดึงนักลงทุนจากยุโรปมากกว่าหลายประเทศในแอฟริกา โดยสินค้าส่งออกสำคัญยังเป็นสินค้าทางการเกษตร เป็นหลัก เช่น กาแฟ อะโวคาโด ดอกไม้สด เป็นต้น ซึ่ง สคต. มองว่า ประเทศไทยสามารถใช้เป็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเหล่านี้ โดยใช้เคนยาเป็นฐานการผลิตได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ด้วยการที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้ากับแอฟริกา ทำให้การเข้ามาทำตลาดอาจจะเสียเปรียบคู่แข่งทั้งจากยุโรปและแอฟริกาที่อาจเข้ามาแย่งโอกาสตรงนี้ได้ นอกจากนั้น ไทยอาจต้องเริ่มมองเคนยา และประเทศในแอฟริกาอื่นที่อาจเป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปในอนาคตด้วยต่อไป และในทางกลับกันเมื่อยุโรปมีข้อตกลงการค้าดังกล่าว จะทำให้สินค้าอาหารแปรรูปจากยุโรปเข้ามาทำตลาดในเคนยาและแอฟริกามากขึ้น
ผู้ส่งออกหรือนักธูรกิจที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : https://www.theeastafrican.co.ke/