สตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด Float Meal มีแผนจะจัดตั้งฐานการผลิตพืชน้ำ “วูล์ฟเฟีย” (Wolffia) หรือ ไข่ผำ ในประเทศไทยภายในปี 2570 โดยวูล์ฟเฟียเป็นพืชน้ำจืดที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งจากการวิจัยล่าสุดพบว่ามีปริมาณโปรตีนสูง บริษัทจึงพัฒนาวูล์ฟเฟียในรูปแบบผงสำหรับใช้ในอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการโปรตีนทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในตลาด และกำลังได้รับความสนใจจากผู้ผลิตอาหารมากขึ้น ล่าสุด ทางบริษัทสามารถหาแหล่งที่ดินสำหรับการผลิตในประเทศไทยได้แล้ว โดยมีแผนจะสร้างบ่อเลี้ยงน้ำจืดหลายบ่อ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกวูล์ฟเฟียอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องด้วยประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่น จึงเหมาะกับการเพาะปลูกพืชน้ำดังกล่าว โดยตั้งเป้าผลิตในรูปแบบผงให้ได้หลายพันตันต่อปี
Float Meal ก่อตั้งขึ้นในปี 2566 ขณะนี้บริษัทกำลังทำการวิจัยและทดลองที่โรงเรือนในแหล่งปลูกองุ่นบนเกาะฮอกไกโด โดยใช้เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรซึ่งรวมถึงการควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 25–30 องศาเซลเซียส และการเพาะปลูกร่วมกับจุลินทรีย์เฉพาะชนิด เพื่อหาวิธีการผลิตที่ดีที่สุด ทางบริษัทได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์วูล์ฟเฟียในรูปแบบผงให้กับผู้ผลิตอาหารภายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว และมีคู่ค้ากว่า 40 ราย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการนำผงวูล์ฟเฟียไปผสมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น วูล์ฟเฟียที่ผลิตในประเทศไทยจะถูกแปรรูปเป็นผงโดยบริษัทแปรรูปในท้องถิ่น และส่งกลับไปจำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหารในญี่ปุ่น
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
วูล์ฟเฟีย (ไข่ผำ) เป็นพืชอาหารดั้งเดิมของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้แนะนำวูล์ฟเฟียให้เป็นซูเปอร์ฟู้ดของประเทศไทยในงาน “International Green Week 2025” ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยได้กำหนดแนวทางการใช้วูล์ฟเฟียเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สำหรับอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรนำระบบ การปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มาใช้
จากข่าวนี้แสดงให้เห็นว่า วูล์ฟเฟียเริ่มได้รับความสนใจในประเทศญี่ปุ่นในฐานะวัตถุดิบใหม่ แม้จะยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทและองค์กรที่เกี่ยวข้องในไทยในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
ในฐานะแหล่งโปรตีนทางเลือก ประเทศไทยได้ส่งออกอาหารจากแมลงไปยังญี่ปุ่นแล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จิ้งหรีดกินได้ ซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมากกว่าประเทศอื่น ๆ เหตุผลหลักคือประเทศไทยมีมาตรฐาน GAP สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด ทำให้ผู้นำเข้าเชื่อมั่นในความปลอดภัย เช่นเดียวกัน สำหรับวูล์ฟเฟีย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้กำหนดมาตรฐานและสนับสนุนให้เกษตรกรขอรับรอง GAP ผู้ส่งออกของไทยควรเตรียมระบบให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ และดำเนินการขอรับรอง GAP ก่อนจะเริ่มทำการตลาดในญี่ปุ่น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2568
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://www.toonippo.co.jp/articles/-/1842427
https://food.dusit.ac.th/home/?p=7689
https://kovic.co.th/wolffia-super-food-of-the-future-world/