หน้าหลัก
/
หน้าหลักสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ
/
ประเด็นร้อน/เจาะลึกตลาดโลก
/
ตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายในฝรั่งเศสเริ่มฟึ้นตัว
ตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายในฝรั่งเศสเริ่มฟึ้นตัว
ยุโรป
•
สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ
เจาะลึกตลาดโลก (Deep insight into the global market)
ฝรั่งเศส
ยุโรป
สินค้าแฟชั่น
เครื่องนุ่งห่ม
เสื้อผ้า
โดย
•
ลงเมื่อ 06 กุมภาพันธ์ 2568 13:30
13
นาย Bernard Cherqui ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า-L’Alliance du commerce (สมาชิกจำนวน 150 แบรนด์รวมร้านค้าปลีกจำนวนทั้งสิ้นถึง 26,000 แห่ง ดังเช่น แบรนด์ ZARA, H&M และ ห้างสรรพสินค้า Galeries Lafayette ฯลฯ) กล่าวว่าปี 2024 เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่ตลาดค้าปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในฝรั่งเศสเริ่มส่งสัญญาณในการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สัญญาณด้านบวกที่สำคัญเห็นได้จากการที่ผู้บริโภคฝรั่งเศสเริ่มกลับมาจับจ่ายสินค้าเสื้อผ้าจากร้านค้าปลีกโดยตรงมากขึ้น ตัวเลขการบริโภคในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 แสดงให้เห็นว่าความถี่ในการใช้บริการร้านค้าปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ถึงแม้ว่าจำนวนผลประกอบการจะยังคงที่จากปีก่อนหน้า (-ร้อยละ 0.1) ในระดับอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.2 และรักษาระดับปริมาณขายสินค้าคงที่ ถึงแม้ว่าตัวเลขการบริโภคนี้จะยังคงต่ำกว่าระดับในปี 2019 ก่อนหน้าสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 1.5 แต่ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากวิกฤตโควิดแล้วธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นในประเทศอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์รุนแรงในช่วงปลายปี 2019 ของผู้ประท้วงเสื้อเหลืองส่งผลเสียหายต่อร้านค้าปลีกเป็นอย่างมาก หลายแห่งจำเป็นต้องปิดชั่วคราวเป็นระยะเวลาหลายเดือน นอกเหนือจากนั้นได้แก่การเติบโตของคู่แข่งอย่างร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกประสบกับวิกฤตต่างๆดังที่ได้กล่าวมา ผู้ประกอบการเองทั้งแบรนด์และห้างค้าปลีกต่างใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยเพิ่มการทำตลาดหลากหลายช่องทางส่งผลให้ตลาดออนไลน์เติบโต จนถึงในปี 2024 ที่ผ่านมาอัตราการบริโภคสินค้าแฟชั่นออนไลน์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4 ผลต่อเนื่องมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของคู่แข่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน Temu และ Shein ที่เข้ามาทำตลาดเชิงรุก และผู้บริโภคหันกลับไปซื้อสินค้าจากร้านโดยตรงมากขึ้น ธุรกิจสินค้าเสื้อผ้าในฝรั่งเศสประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาสิบปี ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนถึง 30,000- 40,000 ตำแหน่งในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (คงเหลือ 150,000 ตำแหน่ง) เนื่องจากหลายแบรนด์ประสบปัญหาจำเป็นต้องฟื้นฟูกิจการ หรือรุนแรงกว่านั้นคือต้องปิดตัวลง ดังเช่น บริษัท Vivarte ที่เคยเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกโดยเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าถึง 16 แบรนด์ (André, Naf Naf, Chevignon, Besson, Cosmoparis, San Marina, La Halle ,Caroll, Minelli ฯลฯ) จำเป็นต้องปิดแบรนด์ลง คงเหลือเพียง Caroll และ La Halle เท่านั้นที่มีบริษัท Beaumanoir เข้าซื้อกิจการและรับช่วงในการบริหารต่อ อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ แบรนด์ Camaieu ที่ปิดตัวลงอย่างกระทันหัน จนกระทั่งเมื่อแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับผู้ชาย Celio เข้าซื้อกิจการ ช่วยให้ Camaieu ได้มีโอกาสกลับมาเปิดร้านเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20 สาขา และจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกในจำนวนที่เท่ากันภายในปี 2025 นี้ นาย Bernard Cherqui แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าแบรนด์สินค้าแฟชั่นระดับกลางจะหายไปจากตลาดคงเหลือแต่แบรนด์ระดับล่างและแบรนด์ระดับลักชัวรี่เท่านั้น โดยเชื่อว่าความสามารถในการปรับตัวของ แบรนด์ระดับกลางเองจะช่วยให้แบรนด์ฝ่าวิกฤตไปได้ เห็นได้จากแบรนด์ Zara จากสเปนที่แสดงความเชื่อมันในตลาดฝรั่งเศสโดยเพิ่มการลงทุนและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง นาย Cherqui ยังกล่าวว่าธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นยังคงมีความสำคัญต่อตลาดการค้าปลีกเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อให้เกิดสัมพันธภาพ ซึ่งเกิดจากการให้บริการและคำแนะนำต่อลูกค้า ส่งผลด้านบวกทั้งกับลูกค้าและแบรนด์ ทางสมาพันธ์ L’Alliance du commerce ใช้ความพยายามในการต่อสู้เพื่อปกป้องธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะการยับยั้งการเติบโตของตลาดออนไลน์ Shein และ Temu ที่ส่งผลให้สินค้าเสื้อผ้าราคาถูกจากจีนหลั่งไหลเข้ามายังฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากช่องโหว่ของภาษีศุลกากรที่อนุญาตให้สินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 150 ยูโรสามารถส่งเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสำหรับการค้าหรือสำหรับบุคคลทั่วไป จนปัจจุบันจำนวนพัสดุที่ส่งจากทั้งสองเว็บไซต์ของจีนเข้าสู่ทวีปยุโรปมีจำนวนสูงถึง 4 พันล้านชิ้นต่อปี ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปได้รับรู้ถึงปัญหาและทำการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ข้อกำหนดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2028 เป็นต้นไปเท่านั้นซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นจะไม่ใช่เพียงแค่ตลาดค้าปลีกสินค้าเสื้อผ้าที่จะได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากทั้งเว็บไซต์ Temu และ Shein ขายสินค้าอื่นๆอีกมากมาย เช่น สินค้าตกแต่งบ้านและวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานตกแต่งเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากการป้องกันคู่แข่งจากต่างประเทศแล้ว ทาง L’Alliance du Commerce พยายามดำเนินการเจรจากับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเกิดการสร้างมาตรฐานค่าเช่าร้านค้า เนื่องจากตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าได้มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 19 ซึ่งสวนทางกับผลประกอบการที่ลดลง ซึ่งขณะนี้การเจรจายังไม่มีความคืบหน้า ประเด็นสำคัญอีกหลายด้านที่ทางผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ได้แก่ การปรับมาตรฐานสินค้าในส่วนของรายละเอียดด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ประกอบการต้องแสดง เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องใช้กับการปฏิบัติงานส่วนนี้สูงถึงปีละ 40,000 ยูโร นอกเหนือจากนั้นได้แก่การต่อต้านกฎหมายที่ต้องการให้สินค้ามือสองได้รับการลงทะเบียนตรวจสอบกับทางตำรวจว่าเป็นสินค้าที่ได้มาอย่างถูกต้อง หรือไม่ได้เป็นสินค้าที่ได้จากการขโมย ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาของทางภาครัฐ
ความเห็นสคต.
ในปี 2024 นี้เว็บไซต์ Shein จากจีนขึ้นครองอันดับหนึ่งแพลตฟอร์มที่คนฝรั่งเศสเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นเป็นครั้งแรกแทนที่ แพลตฟอร์ม E-commerce ขายสินค้ามือสอง Vinted จากลิทัวเนียที่ครองตำแหน่งในฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2020 โดยตกไปอยู่อันดับที่ 2 ตามมาด้วยแบรนด์เสื้อผ้า Kiabi ของฝรั่งเศส, ร้านค้าปลีกสินค้าเครื่องกีฬา Intersport จากสวิตเซอร์แลนด์, Zara, แพลตฟอร์ม E-commerce Veepee ของฝรั่งเศส, Zalando จากเยอรมนี, แบรนด์สินค้าแฟชั่น Primark จากฮอลแลนด์, H & M จากสวีเดน และแบรนด์เสื้อผ้า Gémo ของฝรั่งเศสตามลำดับ ถึงแม้ว่าการเติบโตของแพลตฟอร์ม Shein และ Temu จะแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคฝรั่งเศสยังคงให้ความสำคัญกับราคาเป็นอันดับแรก แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขการบริโภคที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกโดยตรงเป็นสัญญาณอันดีต่อธุรกิจสินค้าแฟชั่น ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามการบริโภคสินค้าออนไลน์ยังไม่สามารถจะแทนที่การซื้อสินค้าจากในร้านได้โดยตรง ผู้บริโภคยังมีความต้องการได้เห็นและจับต้องสินค้า ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การที่คู่ค้าได้เห็นและจับต้องสินค้าจะช่วยสามารถสร้างโอกาสในการขายได้มากกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าแฟชั่นไทยสามารถพิจารณาถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่นในฝรั่งเศสซึ่งจะช่วยสร้างชื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นและสร้างโอกาสในการพบปะคู่ค้าใหม่ ดังเช่นงาน แสดงสินค้าแฟชั่นนานาชาติ Who’s Next ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนมกราคมและกันยายนเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Parc des expositions, Porte de Versailles กรุงปารีส โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้โดยตรง
ที่มาของข่าว
Philippe Bertrand ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos https://www.lesechos.fr/industrie-services/mode-luxe/apres-dix-ans-de-tempete-le-commerce-de-lhabillement-releve-la-tete-veut-croire-la-profession-2145405
Share :