fb
 สหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าทองแดง

สหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าทองแดง

ลงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 11:00
4

เมื่อวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศอัตราจัดเก็บภาษีนำเข้าทองแดงที่อัตราร้อยละ 50 โดยจะเริ่มจัดเก็บในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หลังจากได้รับรายงานการประเมินความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้ผลสรุปว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อส่งเสริมการผลิตทองแดงภายในประเทศและปกป้องการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทองแดงเป็นวัสดุที่ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ การบินและอวกาศ กระสุน ศูนย์ข้อมูล แบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออน ระบบเรดาร์ การป้องกันขีปนาวุธ และอาวุธความเร็วเหนือเสียง เป็นต้น[1] 

หลังจากการประกาศล่าสุดของ ประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ราคาทองแดงในตลาดโลกพุ่งขึ้นร้อยละ2.62 และอยู่ที่ 5.6 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ปอนด์ ต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่ราคาพุ่งขึ้นมาแล้วถึงร้อยละ 13.12 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบวันนับตั้งแต่ปี 2532 โดยในส่วนของตลาดสหรัฐอเมริกา ราคาทองแดงได้ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 25 ตั้งแต่ต้นเดือนต้นเดือนมกราคม - วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ซึ่งราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการคาดการณ์อัตราภาษีที่จะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 25

โดยประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าทองแดงของสหรัฐอเมริกามากที่สุด ได้แก่ ชิลี แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตทองแดงและผลิตภัณฑ์ทองแดงรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2567 ทั้งนี้ การเพิ่มการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของชิลี ในแง่ของรายได้ที่ลดลงจากการส่งออกทองแดง ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 2 รองจากจีน ซึ่งหลังจากการประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชิลี (นายอัลแบร์โต ฟาน คลาเวเรน) กล่าวในการแถลงข่าวว่า ชิลียังคงแสวงหาตลาดใหม่สำหรับทองแดงต่อไป ในขณะที่ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริช กล่าวว่ายังไม่ได้รับข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องให้มีการสื่อสารอย่างเป็นทางการ 

บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

สคต.ฯ คาดว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวทำให้ชิลีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด  เนื่องจากชิลีเป็นประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่สหรัฐอเมริกานำเข้าทองแดงมากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของทองแดงที่นำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณที่ 646,000 เมตริกตัน ในปี 2567 อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากหลายสำนักได้ประเมินว่า ชิลี แคนาดา และเม็กซิโก จะได้รับการพิจารณาจัดเก็บภาษีทองแดงที่อัตราร้อยละ 25 ในที่สุด เนื่องจากการผลิตสินค้าหลายชนิด จำเป็นต้องใช้ทองแดงเป็นวัตถุดิบ ซึ่งสคต.ฯ เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลชิลีจะขอเจรจากับสหรัฐอเมริกาในประเด็นดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว

ความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ส่งผลกระทบให้เกิดการบิดเบือนอุปสงค์และอุปทานทองแดงในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีการนำเข้าทองแดงแล้วคิดเป็นปริมาณที่ 881,000 เมตริกตัน ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีเพียง 441,000 เมตริกตัน ส่งผลให้มีจำนวนทองแดงส่วนเกินมากถึง  440,000 เมตริกตัน ซึ่งปริมาณทองแดงส่วนเกินอาจส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกิน และทำให้ราคาทองแดงลดลง ทั้งนี้ หากสหรัฐอเมริกาบังคับใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าทองแดงในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 สคต.ฯ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานทองแดงในตลาดโลก สคต.ฯ คาดว่ามาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบต่อชิลีในประเด็น ดังต่อไปนี้ 

1) รายได้จากการส่งออก: ชิลีอาจเผชิญกับความผันผวนของรายได้จากการส่งออกทองแดง หากการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ทำให้ราคาทองแดงที่นำเข้าจากชิลีมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มีความต้องการของผู้นำเข้าทองแดงจากชิลีลดลง และหันไปใช้ทองแดงจากแหล่งการผลิตภายในประเทศแทน 

2) การปรับเปลี่ยนตลาด: เนื่องจากภาษีศุลกากรอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ชิลีอาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การส่งออก ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดเป้าหมายไปยังตลาดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรน้อยกว่า หรือการหาผู้ซื้อรายใหม่ในประเทศที่ยังต้องการทองแดงอยู่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกา

3) การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน: การผลิตทองแดงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจชิลี มีส่วนสนับสนุนการจ้างงานและ GDP เป็นอย่างมาก ความผันผวนของราคาทองแดงอันเนื่องมาจากภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านการจ้างงานภายในประเทศ

4) ภาคการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่: เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ส่งออกได้ลดลง ชิลีอาจพิจารณาชะลอกำลังการผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาด รวมถึงบริษัทฯ สัญชาติอเมริกันที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของชิลีอาจพิจารณา ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนโยบายกระตุ้นการผลิตสินค้าและการจ้างงานภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา[1] 

สคต.ฯ เห็นว่า หากชิลีได้รับผลกระทบในเชิงลบจากมาตรการภาษีนำเข้าทองแดง และสินค้าหลักอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของชิลี มีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของการจ้างงานทั้งหมด หากรายได้จากการส่งออกสินค้าหลักลดลง เช่น ทองแดง สินค้าเกษตรกรรม และไม้แปรรูป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของชิลีชะลอตัว และส่งผลกระทบต่ออำนาจการใช้จ่ายของประชาชนในภาพรวม อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มทองแดงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ในวาระอันใกล้ชิลีอาจต้องเผชิญกับกำแพงภาษีใหม่ในกลุ่มสินค้า การเกษตรกรรม และไม้แปรรูปด้วยเช่นกัน 

______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก 

กรกฎาคม 2568


 


[1] https://www.whitehouse.gov/articles/2025/03/president-trump-is-putting-american-workers-first-and-bringing-back-american-manufacturing/


 


[1] https://tradingeconomics.com/commodity/copper

USA announced 50% Tariff on Copper.pdf
Share :
Instagram