fb
เวียดนามเร่งออกกฎหมายควบคุมไอเสียรถจักรยานยนต์ คาดแล้วเสร็จกรกฎาคมนี้
โดย
Trann@ditp.go.th
ลงเมื่อ 14 กรกฎาคม 2568 15:29
5
  1. เนื้อข่าว 

    กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนามได้จัดทำร่างข้อกำหนดว่าด้วยแผนการบังคับใช้มาตรฐานทางเทคนิคแห่งชาติว่าด้วยการปล่อยมลพิษจากรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ในการสัญจรบนท้องถนน (Decision regulating the roadmap for applying national technical regulations on emissions from motorbikes and mopeds participating in traffic) พร้อมทั้งเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะรัฐบาลเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศใช้ ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างข้อกำหนดฉบับดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของเวียดนาม โดยเฉพาะเจตนารมณ์ตามข้อตกลง COP26 ที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (COP26 with the declaration of achieving zero net emissions by 2050) และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืน

    กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงที่มาและเหตุผลของการจัดทำมาตรฐานและแผนการบังคับใช้ดังกล่าวไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบเชิงนโยบาย โดยอ้างอิงจากฐานกฎหมายภายในประเทศ บริบทของการดำเนินงานในระดับปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศจากต่างประเทศ สำหรับบริบททางกฎหมาย เวียดนามได้ออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Law on Environmental Protection) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งบัญญัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันคือกระทรวงก่อสร้าง) จัดทำแผนการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสียของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานอยู่ในประเทศ เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

    ในด้านสาระของมาตรฐานการปล่อยมลพิษ กระทรวงฯ เสนอให้รถจักรยานยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2551 อยู่ภายใต้ข้อกำหนดระดับหนึ่ง (Level one) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ส่วนรถที่ผลิตระหว่างปี 2551–2559 ให้บังคับใช้ระดับสอง (Level two) สำหรับรถที่ผลิตในช่วงปี 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ให้ใช้ระดับสาม (Level three) และรถที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2569 เป็นต้นไป ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระดับสี่ (Level four) สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ รถที่ผลิตก่อนปี 2559 จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดระดับหนึ่ง (Level one)  รถที่ผลิตตั้งแต่ปี 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2570 จะอยู่ภายใต้ระดับสอง (Level two) และรถที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2570 เป็นต้นไป จะต้องเป็นไปตามระดับสี่ (Level four)

    ทั้งนี้ ร่างแผนการดำเนินการกำหนดให้การตรวจสอบการปล่อยมลพิษเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2570 สำหรับพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ก่อนจะขยายผลไปยังเมืองสำคัญอื่น ๆ เช่น นครไฮฟอง นครดานัง นครเกิ่นเทอ และนครเว้ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2571 และจะครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จังหวัดและเมืองต่าง ๆ อาจพิจารณากำหนดระยะเวลาเริ่มต้นที่เร็วกว่ากำหนดได้ตามความเหมาะสมของบริบทท้องถิ่น

    เพื่อให้ประชาชนมีระยะเวลาในการปรับตัวอย่างเหมาะสม ร่างข้อกำหนดได้ระบุให้ช่วงเวลา 18 เดือนแรกนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการตรวจสอบการปล่อยมลพิษ เป็นระยะเวลาของการประชาสัมพันธ์ การตักเตือน และการให้คำแนะนำ โดยยังไม่ดำเนินการลงโทษทางปกครอง หลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ รถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานบนท้องถนน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่เทียบเคียงกับแนวทางที่ใช้กับยานยนต์ประเภทอื่นในปัจจุบัน

 (แหล่งที่มา https://thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2568)

  1. วิเคราะห์ผลกระทบ

เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านมลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2566 จำนวนยานพาหนะในประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10–15 ต่อปี และ ณ เดือนธันวาคม 2566 เวียดนามมีรถยนต์จดทะเบียนแล้วกว่า 6.3 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์มากถึง 74 ล้านคัน ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของยานพาหนะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะในเขตเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงฮานอยที่มีรถจักรยานยนต์ประมาณ 5.6 ล้านคัน และนครโฮจิมินห์ที่มีมากถึง 8.5 ล้านคัน

จากผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า สัดส่วนของฝุ่นละอองในอากาศที่เกิดจากการจราจรอยู่ในช่วงร้อยละ 20–60 ของมลพิษทั้งหมด ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า มลพิษทางอากาศสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่เวียดนามถึงร้อยละ 5–7 ของ GDP ต่อปี ทั้งนี้ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Fulbright Vietnam ระบุว่า ในปี 2556 เวียดนามสูญเสียรายได้จากปัญหามลพิษอากาศประมาณ 9,860–12,450 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรุงฮานอย ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคทางเดินหายใจและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลาป่วยของประชาชนอยู่ที่ประมาณ 1,500 เวียดนามด่ง ต่อคนต่อวัน หรือรวมแล้วสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 2 ล้านล้านเวียดนามด่งต่อปี

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามโดยกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมจึงจัดทำร่างข้อกำหนดว่าด้วยแผนการบังคับใช้มาตรฐานทางเทคนิคแห่งชาติว่าด้วยการปล่อยมลพิษจากรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมาย Net Zero ภายใต้ข้อตกลง COP26 ที่เวียดนามให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

ร่างข้อกำหนดดังกล่าวจะกำหนดมาตรฐานการปล่อยไอเสียเป็น 4 ระดับ ตามปีที่รถผลิต พร้อมกำหนดให้มีการตรวจวัดไอเสียอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2570 ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ และขยายไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ในปี 2571 ก่อนจะบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่าทั่วประเทศมีศูนย์ตรวจสภาพเพียง 282 แห่ง โดยกรุงฮานอยมีเพียง 31 แห่ง และนครโฮจิมินห์มี 39 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานใหม่นี้จะครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถทั่วไปและภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการควบคุมการใช้งานของรถเก่าที่ไม่ผ่านเกณฑ์อย่างเข้มงวด ส่งผลให้ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษารถมากขึ้น และอาจพิจารณาเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตและนำเข้ายานยนต์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพรถ การจัดจำหน่ายอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียานยนต์สะอาด ก็จะได้รับแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ซึ่งอาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในระยะยาว

แม้มาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดต้นทุนในการปรับตัวในระยะสั้น แต่หากดำเนินการ อย่างเป็นระบบ ก็มีศักยภาพที่จะช่วยลดภาระด้านสาธารณสุข บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว ทั้งยังเป็นการวางรากฐานสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเวียดนามในอนาคต

  1. นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การที่รัฐบาลเวียดนามเตรียมประกาศใช้ข้อกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคว่าด้วยการปล่อยมลพิษจากรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคมนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ท่ามกลางความตื่นตัวจากปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมืองใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ตามพันธกรณีในเวที COP26 การกำหนดมาตรฐานใหม่นี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อภาคการคมนาคมในประเทศ หากยังสะท้อนถึงการวางรากฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนามในระยะยาว

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม ปัจจุบันประเทศมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนมากกว่า 74 ล้านคัน การเริ่มบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสียใหม่ในปี 2570 จึงคาดว่าจะก่อให้เกิดความต้องการอย่างมากในด้านการซ่อมบำรุง การเปลี่ยนอะไหล่ หรือแม้แต่การเปลี่ยนรถใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด ซึ่งนำมาสู่โอกาสเชิงพาณิชย์ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบบกรองไอเสีย อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษ และบริการตรวจสภาพรถ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีหรือมีประสบการณ์ในด้านระบบควบคุมไอเสียที่ได้มาตรฐานสากล

ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามายังตลาดเวียดนามผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย เช่น ชุดแปลงไอเสีย ระบบกรองฝุ่น PM2.5 เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและไอเสีย หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์ระบบการจัดการตรวจสภาพรถตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของความต้องการเหล่านี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายตลาดผ่านการร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์บริการหลังการขาย และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า รวมถึงกิจกรรมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐเวียดนาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบ มาตรฐาน และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในเวียดนามอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเอกสาร การทดสอบผลิตภัณฑ์ และการรับรองคุณภาพ ทั้งนี้ การวางยุทธศาสตร์เชิงรุกในการพัฒนานวัตกรรมและบริการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของเวียดนามจะเป็นหัวใจสำคัญในการขยายธุรกิจในตลาดที่มีศักยภาพสูง

การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายไอเสียของเวียดนามไม่เพียงสะท้อนถึงการเพิ่มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจสีเขียวของภูมิภาค หากสามารถปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดและนโยบายเวียดนาม ก็จะสามารถวางตำแหน่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งอาเซียนได้ในอนาคต

News 7 - 11 July - VN motorcycle emission standards-Edit.pdf
Share :
Instagram