Angkor Enterprise (AE) หน่วยงานรัฐด้านการจัดการบัตรเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2568 หน่วยงานสามารถสร้างรายได้มากกว่า 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขายบัตรเข้าชม อุทยานโบราณสถานอังกอร์ (Angkor Archaeological Park) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
AE เป็นองค์กรบริหารภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา ปัจจุบัน ราคาบัตรเข้าชมอุทยานอังกอร์สำหรับต่างชาติ ดังนี้ 1) 1 วัน ราคา 37 ดอลลาร์ 2) 3 วัน ราคา 62 ดอลลาร์ และ 3) 7 วัน ราคา 72 ดอลลาร์
ข่าวประชาสัมพันธ์ของ AE เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 567,673 คน ซื้อตั๋วเข้าชมอุทยาน เพิ่มขึ้น 8.76% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 26.31 ล้านดอลลาร์
ด้านประธานสมาคมมัคคุเทศก์อังกอร์ นาย Khiev Thy ให้ความเห็นว่า แม้ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยว จะแสดงว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ากัมพูชาช่วงหลังมานั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย แต่ นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ใช่กลุ่มหลักของผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมอังกอร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ และกล่าวเพิ่มเติมว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเยือนพระวิหารและโบราณสถานในจังหวัดเสียมราฐ มาจาก สหรัฐอเมริกา ยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เป็นหลัก
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูที่สุดก่อนเกิดโควิด-19 AE ขายบัตรเข้าชมอุทยานอังกอร์ได้ถึง 1,356,961 ใบ ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน และทำรายได้รวม 61.47 ล้านดอลลาร์
ข้อมูลที่น่าสนใจ
1) กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชารายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 กัมพูชาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.7% จากช่วงเดียวกันในปี 2567
2) นอกจากอุทยานอังกอร์แล้ว AE ยังมีรายได้จากสถานที่ท่องเที่ยวอีก 4 แห่ง ได้แก่ (1) ปราสาทเกาะแกร์ 181,140 ดอลลาร์ (2) ปราสาทบึงมาลา 81,990 ดอลลาร์ (3) ภูเขากบาลเสเปียน 3,220 ดอลลาร์ และ(4) ท่าเรือจองเคเนียส 1,216,716 ดอลลาร์
3) แม้ไทยและกัมพูชามีมาตรการด่านชายแดนทั้งหมดระหว่างกัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เที่ยวบินระหว่างสองประเทศยังให้บริการตามปกติ เส้นทาง พนมเปญ–กรุงเทพฯ และ เสียมราฐ–กรุงเทพฯ รวมกันมี 116 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และมีแผนเพิ่มอีกในเดือนตุลาคม โดยจำนวนผู้โดยสารยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.4 ล้านคน (+13.6%) โดยมีชาวไทยมากที่สุด 674,134 คน (+14.6%)
4) ในเดือนมิถุนายน 2568 นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาเดินทางเข้าไทยลดลง 48% เหลือเพียง 14,758 คน โดยเกือบครึ่งเดินทางเข้าทางเครื่องบิน ส่งผลให้เที่ยวบินขาเข้าจากกัมพูชา (เช่น สายการบินไทยแอร์เอเชีย) มีอัตราผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 70% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 6 เดือนแรกของปี (70–80%) ส่วนเที่ยวบินขาออกจากกรุงเทพฯ ไปกัมพูชายังคงมีผู้โดยสารแน่นเต็มลำ 90–100% หลังมีมาตรการด่านชายแดนทั้งหมดระหว่างกัน
ความเห็นของสำนักงานฯ
1) แม้ว่าช่วงหลังจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากัมพูชาผ่านประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่ AE ชี้ชัดว่า นักท่องเที่ยวไทยไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ของการขายบัตรเข้าอังกอร์ ดังนั้น การที่ทั้ง 2 ประเทศ มีมาตรการด่านชายแดนทั้งหมดระหว่างกัน ไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อรายได้ของ AE ในระยะสั้น แต่คาดว่าจะมีผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงกับบรรยากาศและความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวในสายตาต่างชาติ
2) สนามบินนานาชาติเสียมราฐเปิดทำการตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2566 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียตะวันออกบางส่วนยังใช้ประเทศไทยเป็น จุดเปลี่ยนเครื่องหรือแวะพักก่อนเดินทางเข้าสู่กัมพูชา ดังนั้น ในระยะกลางและยาวย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดเสียมราฐไม่มากก็น้อย
3) ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณาปรับตัวเพื่อรักษา/เพิ่มฐานลูกค้าให้หลากหลาย เช่น ร่วมมือกับไกด์หรือบริษัททัวร์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรืออเมริกา และทำโปรโมชันหรือแพ็กเกจร่วมกับสายการบิน/สนามบิน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับสายการบิน เป็นต้น
___________________________________________________________________________
ที่มา: Phnom Penh Post
กรกฎาคม 2568