ถึงแม้ว่าสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านจะสงบลงชั่วคราวในขณะนี้ แต่นาย Mahfi Eğilmez นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของตุรกี ได้ออกมาเตือนถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในบทความของเขาที่มีชื่อว่า “Middle East Tensions and Turkey” ได้มีการสรุปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ว่าตุรกีเป็นประเทศที่มีความเปราะบางสูงต่อความไม่มั่นคงในภูมิภาค ทั้งจากตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ
หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง คือ การพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของตุรกี เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคหลักที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ ฉะนั้นความตึงเครียดที่มากขึ้นจะส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย โดยนาย Eğilmez ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ (Brent crude oil) ได้ขยับขึ้นจาก 60 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณลบต่อบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่เคยลดลง
ราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการค้าดังที่ได้กล่าวข้างต้น แต่ยังลุกลามมาถึงประเด็นด้านเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ยาก โดยนาย Eğilmez ชี้ให้เห็นว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังแผ่เข้ามาผ่านสองช่องทาง ประการแรกมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงาน ซึ่งจะดันราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น ประการที่สอง คือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้ต้นทุนความเสี่ยงทางการเงิน (Credit Default Swap) ของตุรกีพุ่งสูงขึ้น เงินทุนไหลออก และค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลง และนอกจากนี้ เนื่องด้วยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ นักลงทุนภายในประเทศเองจึงมีแนวโน้มที่จะถือครองสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมภาวะอ่อนค่าของสกุลเงินลีรา ซึ่งถึงแม้ว่าค่าเงินที่อ่อนลงอาจช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกในระยะสั้น แต่กระนั้น ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะต้านแรงกระแทกของเงินเฟ้อ และพิษเศรษฐกิจได้
สถานการณ์ความขัดแย้งนี้ยังส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากตุรกีมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับหลายประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของตุรกี ดังนั้นหากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและลดการนำเข้าสินค้าจากตุรกี รวมถึงในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็อาจเผชิญปัญหาในด้านของภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าไม่ปลอดภัยในสายตานักท่องเที่ยว และหากสถานการณ์ประทุขึ้นมาอีกและบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ตุรกีอาจต้องเตรียมรับมือกับคลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ ซึ่งจะเพิ่มภาระต่อระบบสาธารณสุขและงบประมาณของรัฐ และกระตุ้นให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ตุรกียังต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเมืองเชิงยุทธศาสตร์ แม้ในบทความของนาย Eğilmez จะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง แต่ผลกระทบทางการเมืองจากการที่ตุรกีเป็นสมาชิก NATO เช่น การมีฐานเรดาร์ Kürecik ซึ่งคอยทำหน้าที่ตรวจตราน่านฟ้าในตะวันออกกลาง ก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับอังการาเช่นกัน ยิ่งหากความขัดแย้งลุกลามไปเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ก็จะส่งผลให้ตุรกีตกอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวทางการทูตมากขึ้น โดยต้องรักษาสมดุลระหว่างพันธมิตรกับตะวันตก และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับอิหร่าน
จากที่กล่าวมาข้างต้น นาย Eğilmez จึงได้เสนอว่าตุรกีควรใช้โอกาสนี้ในการดำเนินการทูตเชิงรุก ผ่านการแสดงบทบาทนำในการคลี่คลายวิกฤตภูมิภาค เพราะหากไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม วิกฤตดังกล่าวอาจกลายมาเป็น
อุปสรรคใหญ่ที่ทำลายความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตุรกี ทั้งในด้านการควบคุมเงินเฟ้อ การคลังสาธารณะ และการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของตุรกีในช่วงเดือนต่อ ๆ ไป
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะสร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจตุรกีในหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของตุรกีในภูมิภาค จากตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเป็นสมาชิก NATO ทำให้ตุรกีมีศักยภาพในการเป็น “ตัวกลาง” ทางการทูต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาค และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในประเทศในระยะยาว ดังนั้นการดำเนินนโยบายเชิงรุกทั้งด้านการทูตและเศรษฐกิจของตุรกีจึงไม่เพียงเป็นการรับมือกับวิกฤต แต่ยังเป็นโอกาสในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตุรกีในเวทีโลกอีกด้วย