“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 3 ห่อ มาแรง”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในท้องตลาดเริ่มนิยมจำหน่ายในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อ บริษัท NISSIN FOOD PRODUCTS CO., LTD. เริ่มจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ Rao แบบแพ็ค 3 ห่อตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัท SANYO FOODS Co.,Ltd. ยังเริ่มจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ Sapporo ichiban ซีรี่ย์ Gotochi Netsuaimen ในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 จะเห็นได้ว่า บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มหันมาจำหน่ายรูปแบบแพ็ค 3 ห่อ ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกำลังเล็งตลาดเกิดใหม่จากเดิมที่จำหน่ายแพ็ค 5 ห่อ เปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายเป็นแพ็ค 3 ห่อ เพื่อตอบรับสถานการณ์สังคม เนื่องจากปัจจุบัน แต่ละครัวเรือนมีจำนวนสมาชิกลดลงและมีครัวเรือนสมาชิกเดี่ยวจำนวนเพิ่มขึ้น
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำนวนแพ็ค 5 ห่อเป็นรูปแบบการจำหน่ายที่จำหน่ายกันอยู่ทั่วไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง บริษัท NISSIN FOOD PRODUCTS CO., LTD. บริษัท TOYO SUISAN KAISHA, LTD. และบริษัท NONGSHIM JAPAN Co.,Ltd. ได้หันมาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ของบริษัทในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทำให้ยอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 3 ห่อพุ่งสูงขึ้น
“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 3 ห่อ มาแรง”จากข้อมูลยอดจำหน่ายซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศญี่ปุ่นผ่านระบบ RDS-POS ของบริษัท Merchandising-ON พบว่า ยอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 3 ห่อนั้น ในปี 2563 เท่ากับร้อยละ 7.8 ของยอดจำหน่ายสินค้าประเภทบะหมี่ห่อทั้งหมด แต่ในปี 2564 ปี 2565 และปี 2566 ได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็นร้อยละ 9.3 ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 13.1 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากตั้งค่า ปี 2562 เท่ากับ 100 (ตามกราฟ) จะเห็นได้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 3 ห่อ ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
แพ็ค 3 ห่อ เป็นขนาดที่ลองซื้อรับประทานได้ง่าย แม้ราคาต่อห่อจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับแพ็ค 5 ห่อก็ยังมีความสมเหตุสมผลและสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ยังสามารถวางแผนส่งเสริมการจำหน่ายด้วยการนำเสนอขายพร้อมกัน 2 รสชาติซึ่งต่างจากแพ็ค 5 ห่อ
โดยฤดูใบไม้ผลินี้ บริษัท NISSIN FOOD PRODUCTS CO., LTD. ได้เริ่มจำหน่ายแบรนด์ Rao ในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อ เนื่องจากจำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือนลดลง อีกทั้ง ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่า แพ็ค 5 ห่อปริมาณเยอะเกินไปและรู้สึกราคาสูง จึงคาดว่า การจำหน่ายแพ็ค 3 ห่อจะเพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ เล็งเห็นว่า การหันมาจำหน่าย Rao ซึ่งเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์หลักของบริษัทในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จากเดิมจำหน่ายแพ็ค 5 ห่อ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยรวม นอกจากการเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายเป็นแพ็ค 3 ห่อแล้ว บริษัทยังได้พัฒนาสินค้าทั้งตัวเส้นและน้ำซุปเพื่อการจำหน่ายครั้งนี้อีกด้วย
นอกจากบริษัท NISSIN FOOD PRODUCTS CO., LTD. ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท SANYO FOODS Co.,Ltd. บริษัท TOYO SUISAN KAISHA, LTD.  บริษัท ACECOOK Co.,Ltd. ก็ยังหันมาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ของบริษัทในรูปแบบแพ็ค 3 ห่อเพิ่มขึ้น เป็นที่น่าจับตามองว่า การเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ นอกจากจะทำให้สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทแพ็ค 3 ห่อสามารถสร้างพื้นที่ในตลาดแล้ว จะช่วยให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยรวมซึ่งรวมถึง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพ็ค 5 ห่อ ขยายตัวและเติบโตขึ้นหรือไม่

 

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
          การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมทำให้ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนสมาชิกเดี่ยวและครัวเรือนที่มีสมาชิกแต่สามีและภรรยานั้น ในปี 2529 เท่ากับร้อยละ 18.2 และ ร้อยละ 14.4 ตามลำดับ แต่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.9 และ 24.5 ตามลำดับ โครงสร้างจำนวนสมาชิกครอบครัวที่ลดลงส่งผลให้ความต้องการสินค้าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่ารายได้ ทำให้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้า จึงอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า สินค้าปริมาณมากมีราคาสูง แม้ราคาต่อหน่วยอาจถูกว่าสินค้าที่ปริมาณน้อยกว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้สินค้าที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งนอกจากคุณภาพสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการไทยอาจต้องตระหนักถึงโครงสร้างทางสังคมซึ่งส่งผลต่อความต้องการการบริโภคอีกด้วย
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.    
         จากรายงานสถิติการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงการคลังพบว่า มีการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2565 มูลค่า 8,600 ล้านเยน (ประมาณ 2,100 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3.1 เท่า สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้านั้น ร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศเกาหลีใต้ ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวสูง ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากประเทศในเอเชียได้รับความนิยมจากผู้บริโภคญี่ปุ่น เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหรือมีการจำกัดในการรับประทานอาหารนอกบ้านได้ตามมาตรการการป้องการการแพร่ระบาด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงกลายเป็นสินค้าที่พอจะทดแทนความต้องการสัมผัสกับความเป็นต่างประเทศได้ง่ายในราคาย่อมเยา และด้วยอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็มีการขึ้นราคาเช่นกัน แต่ถึงอย่างไร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากมีราคาย่อมเยา ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจที่กำลังได้รับความนิยม หากสามารถจัดหน่ายได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคก็อาจเป็นอีกหนึ่งในสินค้าไทยที่สามารถเติบโตในตลาดญี่ปุ่นได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal
ฉบับวันที่  27 มีนาคม 2567
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://news.nissyoku.co.jp/news/kubo20240325023812048
jaJapanese