California ยื่นฟ้องประธานาธิบดี Trump ใช้อำนาจผิดกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้า

          วันที่ 16 เมษายน 2568 นาย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศยื่นฟ้อง (lawsuit) ท้าทายอำนาจประธานาธิบดี Donald Trump ในการออกคำสั่งขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกว่า เป็นการใช้อำนาจที่ที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ผ่านเข้ากระบวนการพิจารณารับรองของรัฐสภาสหรัฐฯ และกฎหมาย International Emergency Economic Powers Act  (IEEPA)

 

ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าในสถานการณ์ปัจจุบัน ตามคำกล่าวอ้าง เพราะกฎหมาย IEEPA ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศสภาวะฉุกเฉินของประเทศ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ นโยบายต่างประเทศ และการคุกคามทางเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นประธานาธิบดีสามารถดำเนินการบางอย่างได้ ตามที่กฎหมายระบุให้อำนาจไว้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุให้อำนาจเรื่องภาษีนำเข้า

 

แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ยื่นฟ้องประธานาธิบดี Trump กรณีประธานาธิบดี Trump ออกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า นาย Gavin Newsom ให้เหตุผลในการยื่นฟ้องว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัฐแคลิฟอร์เนียมากที่สุด เพราะรัฐฯ มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและการเกษตรใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าต่างประเทศในสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มูลค่าเศรษฐกิจของรัฐฯ ในปี 2023 เท่ากับ 3.9 ล้านล้านเหรียญฯ สูงกว่าเท๊กซัสที่เป็นรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับสองถึงร้อยละ 50 และรัฐฯ ได้ส่งเงินเข้ากองทุนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สูงถึง 83 พันล้านเหรียญฯ

 

          ในปี 2527 มูลค่ารวมทั้งสิ้นของการค้าสองทางของรัฐฯสูงเกือบ 675 พันล้านเหรียญฯ เม็กซิโก แคนาดา และจีน เป็นแหล่งอุปทานนำเข้าและตลาดส่งออกสำคัญสูงสุดของรัฐฯ การนำเข้าจากทั้งสามประเทศรวมกัน 203 พันล้านเหรียญฯ เกินกว่าร้อยละ 40 ของการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 491 พันล้านเหรียญฯ ของรัฐฯ นอกจากนี้ทั้งสามประเทศยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของรัฐ มีมูลค่าส่งออกรวมกันเกือบ 67 พันล้านเหรียญฯหรือมากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าส่งออก 183 พันล้านเหรียญฯของรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐฯยังมีรายได้จำนวนมากจากธุรกิจบริการท่องเที่ยว เฉพาะในปี 2566 มูลค่าที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงถึง 150 พันล้านเหรียญฯ

 

มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าได้ส่งผลกระทบให้เกิดความวุ่นวายสับสนต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคของรัฐฯ แล้ว โดยได้เข้าไปขัดจังหวะระบบห่วงโซ่อุปทาน ทำให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเติบโต และคุกคามตลาดแรงงานของรัฐฯ ซึ่งจะทำให้รัฐฯสูญเสียรายได้จากการค้าระหว่างประเทศและจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายพันล้านเหรียญฯ

 

ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศด้วยว่า รัฐฯ จะนำกลยุทธ์ที่เป็นของตนเองในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศขึ้นมาใช้ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของเศรษฐกิจของรัฐฯ และบรรเทาความเสียหายที่นโยบายของรัฐบาลกลางได้ก่อขึ้น โดยเริ่มต้นที่การเจรจาการค้ากับผู้ว่าการ British Columbia ของแคนาดา เรื่อง การขยายการค้าระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียและ British Columbia

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นของ สคต. ลอสแอนเจลิส

 

หลายมลรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย อิลินอยส์ และหลายองค์กร เช่น U.S. Chamber of Commerce เป็นต้น เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Trump ด้วยการยื่นฟ้องร้องรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้ยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า

 

สิ่งหนึ่งที่แคลิฟอร์เนียและอิลินอยส์พยายามทำ คือ การสร้างเครื่อข่ายและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างออกไปจากรัฐบาลกลาง ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่เด่นชัดว่าจะออกมาในรูปใด อย่างไรก็ดี กฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯกำหนดว่ารัฐสภาสหรัฐฯและรัฐบาลกลางเท่านั้นที่มีอำนาจในการจัดทำนโยบายการค้าระหว่างประเทศ มลรัฐในสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดทำนโยบายการค้าต่างประเทศของตนเองกับประเทศคู่ค้าต่างชาติได้ แต่มลรัฐในสหรัฐฯ สามารถทำกิจกรรมต่างๆที่จะส่งเสริมและพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจของตนเองได้ เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้าเดินไปส่งเสริมการค้า และการส่งเสริมการส่งออกของรัฐเป็นต้น

 

Overseas Trade Promotion Office นครลอสแอนเจลิส 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

en_USEnglish