บริษัทญี่ปุ่นสร้างซีรีย์วาย ตามแบบฉบับไทย

ซีรีส์วาย (Boy’s Love: BL) ที่มีเนื้อหาเรื่องราวความรักระหว่างผู้ชายด้วยกัน กำลังพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นด้วยอิทธิพลจากประเทศไทย โดย บริษัท Avex Pictures ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ Avex ได้แถลงการณ์การออกอากาศเกี่ยวกับซีรีส์เรื่องใหม่ชื่อ “Dating Game” ที่มีแผนออกอากาศภายในปีนี้ โดยทีมเขียนบทและทีมโปรดักชันจากประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัท KADOKAWA ยังเตรียมฉายภาพยนตร์ซีรีส์วายเรื่อง “LOVE SONG” ในเดือนตุลาคมซึ่งกำกับโดยผู้กำกับชาวไทย ทั้งสองบริษัทมุ่งหวังจะนำเอาความรู้และประสบการณ์จาก “ต้นตำรับ” มาผสมผสานเพื่อเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับที่มีความชื่นชอบซีรีส์วาย
Avex Film Labels ผู้สร้างซีรีส์ “Dating Game” กล่าวว่า “เราได้ทำการสำรวจตลาดที่กำลังมาแรงในขณะนี้ และมาลงเอยที่ BL ของไทย” โดยเริ่มถ่ายทำในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป้าหมายหลักของ Avex คือการเจาะตลาดในเอเชียและตลาดต่างประเทศ โดย “Dating Game” จะเป็นซีรีส์วายจากไทยเรื่องแรกของบริษัท ซึ่งบทละคร ผู้กำกับ และการถ่ายทำทั้งหมดเป็นฝีมือของทีมงานชาวไทย บทละครเขียนโดยคุณมาย เพียงไพฑูรย์ สาตราวาหะ ซึ่งเคยคว้ารางวัลบทละครยอดเยี่ยมจาก Asia Television Awards จากการดัดแปลงละครญี่ปุ่นยอดนิยม “Mother” เป็นเวอร์ชันภาษาไทย
นักแสดงนำของเรื่องคือ โคจิ มุไค (Koji Mukai) สมาชิกวงไอดอลชื่อดัง Snow Man นอกจากนี้ ซีรีส์ยังมีแผนทดลองเทคนิคใหม่ๆ เช่น การผสมผสานตัวละครแอนิเมชันเข้าไปในฉากจริงโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบริษัทโปรดักชันจากไทย โปรดิวเซอร์กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกทีมไทยว่า “หากเป็นทีมญี่ปุ่น ผลงานก็จะกลายเป็นซีรีส์ญี่ปุ่น” พร้อมเสริมว่า “แม้บทละครจะเป็นบทออริจินัล แต่มีไอเดียและฉากที่แปลกใหม่ที่มีเนื้อหาดึงดูดใจ และมีสิ่งให้เรียนรู้มากมาย” คาดว่าจะเริ่มออกอากาศในประเทศไทยภายในปีนี้ ซึ่งครั้งนี้จะต่างจากทุกครั้งของ Avex ที่ปกติจะเน้นตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ซีรีส์เรื่องนี้จะออกฉายต่างประเทศก่อนแล้วจึง “นำเข้า” สู่ตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทยังเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อออกอากาศในภูมิภาคอื่นของเอเชียด้วย โดยมีแผนจะฉายที่ญี่ปุ่นภายในปีนี้เช่นกัน
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง บริษัท KADOKAWA ก็มีแผนเปิดตัวภาพยนตร์วายเรื่อง “(LOVE SONG)” ที่ร่วมผลิตกับทีมงานชาวไทยเช่นกัน
เหตุใดจึงเกิดความร่วมมือกับไทยมากขึ้น เจ้าหน้าที่ Avex Film Labels ผู้ซึ่งเป็นแฟนคลับซีรีส์วาย กล่าวว่า “ซีรีส์วายเรื่อง ‘2gether’ ที่ฉายในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รับความนิยมและช่วยให้ซีรีส์วายไทยได้รับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่น ปัจจุบันในญี่ปุ่นก็มีการเพิ่มช่วงเวลาออกอากาศสำหรับซีรีส์วายมากขึ้นในช่วงเวลาดึก”
“ในหลายประเทศที่มีข้อจำกัดด้านวัฒนธรรมหรือศาสนา ซีรีส์วายจึงอาจไม่สามารถออกอากาศทางโทรทัศน์ในประเทศเหล่านั้นได้ แต่ซีรีส์วายไทยมีความหลากหลาย ทั้งที่เหมาะสำหรับทีวีหรือสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นการแสดงออกทางความรู้สึกมากขึ้น”
คำว่า “Thai Numa” ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “หล่มไทย” ซึ่งหมายถึงการติดหล่มหลงใหลในซีรีส์วายไทย ก็เริ่มแพร่หลายในหมู่แฟนคลับทำให้มูลค่าตลาดเติบโตตามไปด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเองก็ได้เปิดบัญชี X (เดิมคือ Twitter) อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับซีรีส์วายไทยแก่แฟนคลับชาวญี่ปุ่น และส่งเสริมการเดินทางตามรอยสถานที่ถ่ายทำ
การที่วงการภาพยนตร์และละครของญี่ปุ่นจับมือกับทีมสร้างจากไทยเพื่อนำกระแสความนิยมในตลาดและความเชี่ยวชาญของทีมงานเข้ามาใช้ ดูเหมือนจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ขยายตัวต่อไปในอนาคต

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
กระแสความนิยมซีรีส์วายไทยในญี่ปุ่นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากการออกอากาศซีรีส์ ‘2gether’ ในปี 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาดที่ผู้คนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ซีรีส์วายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพยายามผลักดันและสนับสนุน ซึ่งกระแสซีรีส์วายทำให้วงการ บุคลากร เนื้อหา วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของคนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังส่งผลให้สินค้าไทย เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์ไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่นด้วย
ที่ผ่านมา รูปแบบธุรกิจของคอนเทนต์ซีรีส์วายส่วนใหญ่คือสื่อญี่ปุ่นเลือกซื้อคอนเทนต์จากไทยเพื่อออกอากาศในประเทศญี่ปุ่น แต่ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันในการผลิตระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การยกระดับการรับรู้ซีรีส์วายไทยในญี่ปุ่น และช่วยผลักดันการส่งออกคอนเทนต์ของไทยให้ขยายตัวยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ครีเอเตอร์และศิลปินชาวไทยยังสามารถคาดหวังโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านความร่วมมือนี้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการแนะนำวัฒนธรรมและสินค้าไทยซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าไทยในญี่ปุ่นได้ด้วย

ฉบับที่ 34 ประจำวันที่ 17 – 23 พฤษภาคม 2568-Web

⇑⇑click for download

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2568

 

de_DEGerman