นาย Dennis Mapa นักสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน 2568 ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในเดือนมีนาคม 2568 และยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2567 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อคือ การลดลงของอัตราการขยายตัวในดัชนีอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในเดือนเมษายน ลดลงจากร้อยละ 2.2 ในเดือนมีนาคม สำหรับดัชนีอาหาร อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 0.7 จากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ราคาข้าวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวลดลง และต้นทุนการนำเข้าข้าวที่ลดลง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อข้าวหดตัวที่ร้อยละ 10.9 ในเดือนเมษายน จากติดลบร้อยละ 7.7 ในเดือนมีนาคม
นางสาว Sarah Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics กล่าวว่า การลดลงของราคาข้าวจากปีที่แล้ว มีสาเหตุมาจากฐานราคาที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวตั้งแต่กลางปี 2567 ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ราคาข้าวค้าปลีกชะลอตัวลงในปีนี้ นอกจากดัชนีอาหารแล้ว การขนส่งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อโดยรวม โดยในเดือนเมษายนมีการลดลงของราคาในอัตราร้อยละ 2.1 จากติดลบร้อยละ 1.1 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสาธารณูปโภคมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.9 ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของเดือนมกราคม – เมษายน 2568 อยู่ที่ร้อยละ 2 ซึ่งอยู่ในระดับเป้าหมายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 – 4 สำหรับปี 2568 สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดไป คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดของเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นจากปัญหานโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ไม่น่าจะสูงกว่าที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ทั้งนี้ การควบคุมเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจะการเปิดโอกาสให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.25 ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเมื่อเดือนเมษายน ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 เหลือร้อยละ 5.5 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระทางการเงินของภาคครัวเรือน และเป็นการผ่อนคลายภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งยังช่วยรองรับผลกระทบเชิงลบจากภาวะการค้าที่ซบเซา อันเนื่องจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
นางสาว Rosemarie Edillon ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การวางแผนและการพัฒนา (Department of Economy, Planning, and Development: DEPDev) ให้ความเห็นว่า การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักจากการลดลงอย่างมากของราคาอาหาร ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่แสดงให้เห็นว่านโยบาย และมาตรการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่มีประสิทธิผล ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังคงดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนของราคาสินค้า และบริการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้มีเสถึยรภาพ และอยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่กำหนดอย่างจริงจัง
ในขณะเดียวกัน นาย Frederick Go ที่ปรึกษาด้านการลงทุนและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ปรับตัวลดลงในช่วงล่าสุด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาคครัวเรือนในประเทศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าวย่อมส่งผลในทางบวกต่อภาพรวมของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค
ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Philippine Star
บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็น
- อัตราเงินเฟ้อของประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน 2568 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงราคาข้าวที่ปรับลดลง ทั้งราคาขายภายในประเทศ และต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง ทั้งนี้ การชะลอตัวของราคาขนส่งก็มีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสาธารณูปโภคมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาค่าไฟ โดยไตรมาสแรกของปี 2568 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 2 แต่ก็ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่กำหนดไว้ระหว่างร้อยละ 2 – 4 สำหรับปี 2568 นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดของเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ แม้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ความไม่แน่นอนจากปัญหานโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อดังกล่าว ธนาคารกลางจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของภาคครัวเรือน และสนับสนุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องในการติดตามความผันผวนด้านราคา และควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
- จากสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะจากการลดลงของราคาข้าว อาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อโอกาสทางการค้าของไทยให้ผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแปรรูป ของใช้ส่วนบุคคล และผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น โดยฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก และพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารบางประเภท มีแนวโน้มในการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ฟิลิปปินส์ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย อาจเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้นจากคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย ซึ่งไทยมีโอกาสขยายการค้ากับฟิลิปปินส์ในบางหมวดสินค้า แต่ต้องเฝ้าระวังการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคนี้
—————————————
Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila
พฤษภาคม 2568