เนื้อข่าว

ตามรายงานจาก S&P Global ระบุว่า การประกาศภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามหดตัวอีกครั้งในเดือนเมษายน 2568 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ของภาคการผลิตลดลงต่ำกว่า 50.0 จุดที่แสดงถึงความไม่เปลี่ยนแปลง (No-change mark) หลังจากเคยบ่งชี้ถึงการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนเมื่อเดือนมีนาคม 2568 โดย PMI ของเวียดนามในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 45.6 ซึ่งลดลงอย่างมากถึง 4.9 จุดจากระดับ 50.5 ในเดือนมีนาคม 2568 สภาพธุรกิจในเดือนเมษายน 2568 จึงถือว่าแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 การลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสวนทางกับการเติบโตในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งถือเป็นการลดลงที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบสองปี

ธุรกิจที่ถูกสำรวจรายงานว่า การลดลงของคำสั่งซื้อใหม่สะท้อนถึงผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้เกิดการหดตัวของผลผลิตอีกครั้งหลังจากการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมีนาคม โดยการลดลงในเดือนเมษายนถือเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีต่อการผลิตในเดือนข้างหน้า และความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564

นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก S&P Global Market Intelligence กล่าวว่า การบังคับใช้ภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามหดตัวอย่างชัดเจน โดยบริษัทต่าง ๆ พบกับการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในคำสั่งซื้อใหม่ การส่งออก และการผลิต อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่การหยุดชะงักในภาคการผลิตอาจเกิดขึ้นอีกจากภาษีใหม่ ๆ ทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจตกต่ำลง ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ปริมาณงานที่ค้างอยู่ก็ลดลงอย่างรวดเร็วท่ามกลางการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ โดยอัตราการลดลงตรงกับที่เห็นในเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตต้องลดจำนวนพนักงานลงเป็นเดือนที่เจ็ดติดต่อกัน อีกทั้งบริษัทต่าง ๆ ยังลดการซื้อวัตถุดิบลงอย่างมากเพื่อตอบสนองต่อการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และความต้องการผลผลิตที่ลดลง การซื้อวัตถุดิบลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยมีการลดลงที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 และสต็อกสินค้าที่ซื้อมาใหม่ก็ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ขณะที่การขาดแคลนความต้องการทำให้บริษัทต่างๆ ยังคงลดราคาขายลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

การหดตัวของดัชนี PMI ของเวียดนามในเดือนเมษายน 2568 เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้มาตรการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทจากเวียดนามอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ลดลงอย่างรุนแรงทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยอัตราการลดลงในเดือนเมษายน 2568 ถือว่ารวดเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบเกือบสองปี ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่ลดลงอย่างชัดเจน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการชะลอตัวของภาคการผลิตนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่ในระดับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนามในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการส่งออกซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของการเติบโตของประเทศ ทั้งนี้ เวียดนามมีความพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ในฐานะตลาดส่งออกหลัก หากความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันอาจนำไปสู่การชะลอตัวของการจ้างงานในระดับมหภาค และส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ ภาคการผลิตของเวียดนามยังต้องเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ เช่น ความไม่แน่นอนของต้นทุนการผลิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากขึ้น และการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่ซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูง และหลายประเทศพัฒนาแล้วเริ่มกลับมาใช้นโยบายการค้าแบบตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเอง

เพื่อลดผลกระทบและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ รัฐบาลเวียดนามได้เร่งดำเนินมาตรการตอบสนองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดประชุมหลายครั้งและเตรียมการเจรจากับสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมาการประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่มีอัตราสูงและครอบคลุมกว้างขวาง ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงยืนยันเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 8 ขึ้นไป และยังได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ ให้เป็นหนึ่งใน 6 ประเทศแรกจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ที่จะได้เข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการ

การเจรจาระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ มีกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 โดยประเทศที่ได้รับสิทธิเข้าเจรจาพร้อมกับเวียดนาม ได้แก่ สหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเจรจาอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมและวางแนวทางการเจรจา โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งทำข้อตกลงการซื้อขายสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เครื่องบิน ยา เวชภัณฑ์ และสินค้าเกษตร เพื่อสร้างสมดุลทางการค้าและลดแรงกดดันจากมาตรการภาษี

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ในปี 2567 เวียดนามมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 119,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มูลค่า 23,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 19.4) ตามมาด้วยเครื่องจักรและชิ้นส่วน มูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (18.5%) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร มูลค่า 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และรองเท้า มูลค่า 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เวียดนามคาดหวังว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีในการเจรจาครั้งนี้ หากการเจรจาประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการฟื้นฟูภาคการผลิตและขับเคลื่อนการส่งออกของเวียดนามในระยะต่อไป

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าสินค้านำเข้าจากเวียดนามได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออกที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ สถานการณ์นี้ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องเร่งปรับตัวทั้งในเชิงนโยบายและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น ๆ ผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าใหม่ เพื่อเปิดทางสู่ตลาดต่างประเทศ ลดแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน เวียดนามยังเดินหน้าขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกลไกความร่วมมือทางการค้าเดิม เช่น RCEP CPTPP และกรอบอาเซียน ซึ่งช่วยรองรับแรงกระแทกจากภาษีของสหรัฐฯ ได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกันนี้ รัฐบาลเวียดนามยังคงให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรกล และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการพึ่งพาแรงงานราคาถูกในอดีต

สำหรับประเทศไทย อาจเป็นโอกาสที่ควรเร่งใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในมิติของการลงทุน ไทยสามารถขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามในภาคอุตสาหกรรมที่เวียดนามยังขาดความพร้อม เช่น ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเสริมศักยภาพให้เวียดนามเท่านั้น แต่ยังเอื้อต่อการขยายเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคของไทยในระยะยาว

ความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามภายใต้กรอบอาเซียนยังเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และพัฒนาโครงการเศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานหมุนเวียน ดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นทิศทางเศรษฐกิจอนาคตที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญและสามารถต่อยอดร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การชะลอตัวของภาคการผลิตในเวียดนามยังเปิดโอกาสเชิงการค้าสำหรับไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ที่ไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว ในช่วงที่ผู้ซื้อทั่วโลกกำลังมองหาซัพพลายเออร์ทางเลือกใหม่เพื่อทดแทนเวียดนาม ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดส่งออกได้ หากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มที่จะขยายฐานลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในระยะสั้นถึงกลางอย่างมีนัยสำคัญ

de_DEGerman