ส่องเศรษฐกิจและเป้าหมายการดำเนินงานของมณฑลเฮยหลงเจียงประจำปี 2568

  1. รายงานเศรษฐกิจประจำปี 2567

ในปีที่ผ่านมา มณฑลเฮยหลงเจียงมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มูลค่า 1.64769  ล้านล้านหยวน (~ 7.7441 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 โดยมีเมืองที่มี GDP สูงเป็นอันดับ 1 คือเมืองฮาร์บิน มี GDP มูลค่า 601,630 ล้านหยวน (2.8276 ล้านล้านหยวน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.30 รองลงมาได้แก่ เมืองต้าชิ่ง และเมืองฉีฉีฮาร์เออร์

 

GDP ของแต่ละเมืองในมณฑลเฮยหลงเจียงปี 2567

ลำดับ เมือง ปี 2024

(ล้านหยวน)

อัตราการเติบโต (%) ลำดับ เมือง ปี 2024

(ล้านหยวน)

อัตราการเติบโต (%)
1 ฮาร์บิน 601,630 4.30 8 จีซี 62,260 -1.10
2 ต้าชิ่ง 281,580 3.20 9 ซวงยาซาน 55740 3.40
3 ฉีฉีฮาร์เออร์ 135,310 2.70 10 เฮ้อก่าง 37630 -2.90
4 สุยฮว้า 124,400 3.20 11 อีชุน 37,047 2.10
5 หมู่ตานเจียง 105,140 3.80 12 ชีถายเหอ 23660 -7.20
6 เจียมู้ซือ 100,770 4.80 13 เขตต้าซิงอานหลิง 17,310 3.70
7 เฮยเหอ 71,140 3.30

 

 

ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง 590,410 ล้านหยวน (~2.7749 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ผลผลิตธัญพืช 80,015 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 (โดยมีปริมาณผลผลิตเป็นอันดับ 1 ของประเทศต่อเนื่อง 15 ปีซ้อน) ส่วนด้านผักและพืชจำพวกเห็ดมีผลผลิต 8.954 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ผลผลิตผลไม้ 1.913 ล้านตัน ด้านปศุสัตว์ มีผลผลิตเป็ดและห่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 มีผลผลิตนมออร์แกนิกส์ 348,000 ตัน

 

ภาคอุตสาหกรรม มูลค่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 8.3 โดยอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในที่นี้ อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เหมืองแร่ลดลงร้อยละ 10.2 และการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ก๊าซ และน้ำ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

 

ภาคบริการ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 รายได้ของธุรกิจให้เช่าและบริการทางธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 วัฒนธรรม กีฬา และความบันเทิงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ตลอดทั้งปีมณฑลเฮยหลงเจียงต้อนรับนักท่องเที่ยว 282.398 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวรวม 370,120 ล้านหยวน (~1.7395 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 67.1

 

ภาคการบริโภค ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 573,890 ล้านหยวน (~2.6972ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 แบ่งเป็น การค้าปลีกตลาดในเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และการค้าปลีกตลาดในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

 

ภาคการลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0

 

การค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่า 312,280 ล้านหยวน (~1.4677 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 แบ่งเป็น การส่งออก มูลค่า 86,970 ล้านหยวน (~408,759 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และการนำเข้า มูลค่า 225,310 ล้านหยวน (~1.0589 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ มูลค่าการค้ากับประเทศแถบเส้นทาง BRI 279,010 ล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3

  • สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 (สัดส่วนร้อยละ 46.5 ของมูลค่าการส่งออกของมณฑลเฮยหลงเจียง โดยมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96 ส่วนประกอบรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 โทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 183.5) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานสูง เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 (สัดส่วนร้อยละ 19.7 ของมูลค่าการส่งออกของมณฑลเฮยหลงเจียง โดยมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.1 ผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7 เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1)
  • สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 แร่เหล็ก อะลูมิเนียม และแร่โลหะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8

 

รายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร รายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 31,269 หยวน (~146,964.30 บาท) แบ่งเป็น เขตเมืองเท่ากับ 38,212 หยวน (~179,596.40 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และเขตชนบทเท่ากับ 20,963 หยวน (~98,526.10 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1

 

ดัชนีราคาผู้บริโภค ภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 โดยแบ่งหมวดสินค้าตามการปรับตัวดังนี้ (1) ดัชนีราคาปรับตัวสูงขึ้น 6 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.1 การศึกษา วัฒนธรรม และสันทนาการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เครื่องนุ่งห่มปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ของใช้และบริการในชีวิตประจำวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 (2) ดัชนีราคาปรับลดลง ได้แก่ หมวดอาหาร/ยาสูบ/แอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.7 และการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.9

 

  1. เป้าหมายหลักในการพัฒนาของมณฑลเฮยหลงเจียงในปี 2568 ได้แก่
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
  • ปริมาณผลผลิตธัญพืช 80,000 ล้านกิโลกรัมขึ้นไป
  • การจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 300,000 คนขึ้นไป
  • อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.8
  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2
  • รายได้ประชากรเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว
  • การใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ในพื้นที่ลดลงร้อยละ 3.5
  • คุณภาพสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

  1. แผนการดำเนินงานของมณฑลเฮยหลงเจียงปี 2568

3.1 กระตุ้นการบริโภคอย่างจริงจัง เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการบริโภค เพิ่มอุปทานที่มีคุณภาพและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการบริโภค เพื่อส่งเสริมการบริโภค โดยยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5

– เสริมสร้างนโยบายส่งเสริมการบริโภค ผลักดันให้กลุ่มรายได้น้อยและปานกลางเพิ่มรายได้และลดภาระ ปรับปรุงมาตรฐานเงินบำนาญขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เกษียณอายุ รวมถึงเงินอุดหนุนการประกันสุขภาพอย่างเหมาะสม สนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคของเก่าแลกใหม่ รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคในด้านต่างๆ อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

– กระตุ้นศักยภาพและเสริมสร้างการบริโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ร้านอาหาร และตลาดแผงลอย ปรับปรุงการบริโภค พัฒนาวัฒนธรรม และความบันเทิง ขยายการบริโภคที่เน้นบริการดิจิทัล การดูแลผู้สูงอายุและเด็ก เน้นพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ เช่น การแพทย์แผนจีนเพื่อการพักฟื้น ชูศักยภาพการเป็นเมืองน้ำแข็งและหิมะ เช่น กีฬาหิมะและน้ำแข็ง หรือ การท่องเที่ยวหิมะและน้ำแข็ง

– เพิ่มประสิทธิภาพสิ่งแวดล้อมและขยายการบริโภคอย่างต่อเนื่อง สร้างระบบโลจิสติกส์ในชนบท สร้างศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรระดับภูมิภาค ผลักดันการขนส่งสินค้าทางบก-ทางราง และทางบก-ทางน้ำ

3.2 มุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพการลงทุน ขยายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ มีเป้าหมายให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6

– ทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐดีขึ้น ส่งเสริมพันธบัตรพิเศษ การจัดหาเงินทุนที่มุ่งเน้นตลาด และใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมเพื่อมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการใหญ่ในสาขาที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การผลิตชีวภาพ การบินและอวกาศ

– ผลักดันการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสำคัญ 1,000 โครงการ โดยร้อยละ 60 เป็นโครงการอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์

– เพิ่มประสิทธิภาพการดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มส่งเสริมการลงทุน เช่น งานแสดงสินค้า และกระชับความร่วมมือกับปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เสริมสร้างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรม

3.3 เป็นผู้นำในการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งบูรณาการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นวัตกรรมอุตสาหกรรม และการบูรณาการเชิงลึกของภาคการผลิต การศึกษา การวิจัย และการประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย สร้างฐานการผลิตเครื่องจักรที่แข็งแกร่ง พลังงาน และวัตถุดิบที่สำคัญ โดยตั้งเป้ามูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5

– เน้นการมีบทบาทเพิ่มนวัตกรรมทางเทคโนโลยี สนับสนุนการก่อสร้างห้องปฏิบัติการที่สำคัญระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องในด้านการเกษตร การแพทย์ และสาขาอื่นๆ

– เร่งยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญ

– สร้างคลัสเตอร์การผลิตขั้นสูง

3.4 เร่งการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าและอาหารที่สำคัญของประเทศที่แข็งแกร่ง

– เสริมสร้างความสามารถในการผลิตอาหารอย่างครบวงจร

– พยายามสร้างระบบจัดหาอาหารที่หลากหลาย ส่งเสริมแผนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนมและโคเนื้อระดับไฮเอนด์ พัฒนาและขยายอุตสาหกรรมห่าน และรักษาผลผลิตเนื้อสัตว์ ไข่ และนมให้คงที่

– เสริมสร้างเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเกษตร พัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างจริงจัง สร้างฐานสาธิตเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่กว่า 100 แห่ง สร้างฟาร์มอัจฉริยะ 20 แห่ง และพัฒนาการเกษตรหมุนเวียนอย่างจริงจัง

– เร่งเดินหน้าห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ระดับกลางถึงระดับสูง

3.5 ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่น

จัดการแข่งขันกีฬา Asian Winter Games ในระดับสูง

เร่งการก่อสร้างพื้นที่ชั้นนำเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจน้ำแข็งและหิมะ

เพิ่มอุปทานผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

เพิ่มประสิทธิภาพการบริการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

– เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว

3.6 ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ รวมถึงปรับปรุงสถาบันและกลไกที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

– สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจทุกประเภท

– ปฏิรูปด้านการเงินและภาษีเชิงลึก

– เพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

3.7 ขยายการเปิดสู่โลกภายนอกในระดับสูง ยกระดับ Belt and Road Initiative มีส่วนร่วมในการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน – มองโกเลียและรัสเซีย มุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ และรักษาเสถียรภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ

– ส่งเสริมการเติบโตทางการค้าอย่างมั่นคง เสริมสร้างการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ และสาขาดั้งเดิมอื่นๆ ขยายการส่งออกหมวดหมู่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า และนำเข้าหมวดหมู่ใหม่ อย่าง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น ขยายการค้าชายแดน การค้าบริการ และการค้าดิจิทัล ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน สนับสนุนผู้ประกอบการเปิดตลาดต่างประเทศที่หลากหลาย อาทิ สหภาพยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ขยายการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลการเกษตร

– การดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ/นักลงทุนต่างชาติด้านการผลิตมาตั้งถิ่นฐานในเฮยหลงเจียงให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการบริหารพิเศษแห่งชาติสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ

– เร่งก่อสร้างช่องทางข้ามพรมแดน เพิ่มเส้นทางการบินโดยสารไปยังรัสเซียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานสะพานทางหลวงเฮยเหอและสะพานรถไฟทงเจียง สร้างทางรถไฟใหม่สายซุยเฟินเหอถึงชายแดน เร่งบูรณาการ Smart Customs กับ Smart Port ผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับรัสเซีย สนับสนุนการดำเนินงานที่มีคุณภาพสูงในยุโรปกลาง

– ดำเนินยุทธศาสตร์ยกระดับเขตทดลองการค้าเสรี เร่งสร้างเขตนำร่องความร่วมมือระหว่างประเทศจีน-รัสเซียบนเกาะเฮยเซียจื่อ (หรือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฝูหยวน) ผลักดันการขยายเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของเขต comprehensive bonded zones, เขต Airport Economic Zones และเขตทดลองการค้าเสรี

3.8 ส่งเสริมการขยายตัวของเมืองรูปแบบใหม่ และการฟื้นฟูชนบท พัฒนาคุณภาพและระดับความเป็นเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของเมืองและชนบท

– ผลักดันความเป็นเมืองรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง

– ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลที่มีคุณภาพสูง

– เร่งการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุม

3.9 ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียว เพื่อส่งเสริมการลดคาร์บอนและมลพิษ

– เสริมสร้างการปกป้องและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา

– ส่งเสริมการปกป้องท้องฟ้าสีคราม น้ำใส และดินแดนบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง

– ส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคง

3.10 ปกป้องและปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

– ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณภาพ

– ปรับปรุงระดับประกันสังคม

– การจัดทรัพยากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประชาชน และส่งเสริมการขยายและปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

– ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ

 

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

ในปี 2567 ที่ผ่านมา การดำเนินงานทางเศรษฐกิจของมณฑลเฮยหลงเจียงโดยทั่วไปมีเสถียรภาพ มั่นคง ก้าวหน้าและมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยภาพรวมพบว่าผลผลิตทางการเกษตรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตธัญพืชบรรลุเป้าหมาย ภาคอุตสาหกรรมมีความกดดัน ภาคบริการมีความมั่นคง เศรษฐกิจน้ำแข็งและหิมะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก ตลาดการบริโภคสินค้ายังคงเติบโต ศักยภาพการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตอย่างรวดเร็ว การค้าระหว่างประเทศมีทิศทางที่สดใส รายได้ของประชากรดีขึ้น

 

มณฑลเฮยหลงเจียงตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศจีน ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดประเทศรัสเซียเป็นประตูสู่ “ยูเรเซีย” มณฑลเฮยหลงเจียงเป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศจีน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการเร่งการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างฐานการผลิตสินค้าและอาหารที่สำคัญของประเทศที่แข็งแกร่ง อาทิ เสริมสร้างความสามารถในการผลิตอาหารอย่างครบวงจร เสริมสร้างเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเกษตร พัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างจริงจัง สร้างฐานสาธิตเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ สร้างฟาร์มอัจฉริยะไร้คนขับ พัฒนาการเกษตรหมุนเวียนอย่างจริงจัง เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยสามารถทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะกับมลฑลเฮยหลงเจียง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรของไทยให้ผลผลิตมีความมั่นคงและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เป้าหมายการดำเนินงานของมณฑลเฮยหลงเจียง คือการเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการขยายการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ถือว่าเป็นอีกโอกาสที่ไทยจะได้มีความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลเฮยหลงเจียงมากยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันไทยจะยังเสียดุลการค้ากับมณฑลเฮยหลงเจียงอยู่มาก ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มณฑลเฮยหลงเจียงนำเข้าจากไทยในปี 2567 ได้แก่ สตาร์ชและอินูลิน ข้าว แก้วและเครื่องแก้ว ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และพืชผักตระกูลถั่ว แห้งและเอาเปลือกออก เป็นต้น

                  

แหล่งที่มา : https://tjj.hlj.gov.cn/tjj/c106736/202501/c00_31805297.shtml

https://www.hlj.gov.cn/hlj/szfgzbg/202501/c00_31807071.shtml

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1826626429340423522&wfr=spider&for=pc

 

******************************

de_DEGerman