แนวโน้มราคาอาหารในญี่ปุ่นปี 2568 พุ่งสูง

ราคาสินค้าอาหารในญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ และค่าแรง และราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจากการที่ค่าเงินเยนอ่อน

ผัก และข้าวปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่ำจากสภาวะน้ำแล้ง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยราคาผักสด ณ เดือนมกราคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะชนิดที่มีการบริโภคเป็นประจำและในปริมาณมาก เช่น กะหล่ำปลีที่ปรับขึ้นถึง 3 เท่า และผักกาดขาวที่ปรับขึ้น 2 เท่าจาก   เดือนก่อนหน้าตามปริมาณการบริโภคทดแทนกะหล่ำปลี ขณะที่ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่  ฤดูร้อนของปีก่อนหน้า โดย ณ เดือนมกราคม ปรับขึ้นถึงร้อยละ 70.9 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4 เดือนติดต่อกัน โดยนอกจากจะส่งผลต่อราคาข้าวโดยตรงแล้ว    ยังกระทบผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบด้วย อาทิ ข้าวปั้นโอนิกิริ (ขึ้นราคาร้อยละ 9.2) และซูชิ (ร้อยละ 4.5) ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวที่ทำให้ราคาพุ่งสูง โดยการนำข้าวสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินบางส่วนออกมาสู่ตลาด

จากผลสำรวจผู้ประกอบการสินค้าอาหารสำเร็จรูปในญี่ปุ่น 200 บริษัท โดย Teikoku Databank พบว่า ราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 1,600 รายการ (โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง บะหมี่แช่เย็น ซอส/เครื่องปรุงรส ซีเรียล และชอคโกแลต) มีการปรับขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ตามต้นทุนการนำเข้าที่เป็นผลจากค่าเงินเยนอ่อน และค่าขนส่ง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าราคาอาหาร (ไม่รวมอาหารสด) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จะสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 เทียบกับปีก่อนหน้า และทั้งปี 2568 จะมีสินค้าที่ปรับขึ้นราคาประมาณ 15,000 – 20,000 รายการ (เทียบกับ 12,000 รายการในปี 2567)

———————————————————————————————–

ที่มา : https://japannews.yomiuri.co.jp/business/economy/20250223-240173/

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20250203_B01/

de_DEGerman