ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติกำลังเพิ่มสูงขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอมและสปา ซึ่งตอบโจทย์เทรนด์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทำให้สินค้าไทยที่มีจุดเด่นด้านสมุนไพร ภูมิปัญญา และกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในตลาดจีน
แหล่งที่มาของรูป https://report.iimedia.cn/repo203-0/43712.html
จากรายงานของ iiMedia Research ขนาดตลาดเครื่องหอมและสารสกัดกลิ่นในจีนในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 439,000 ล้านหยวน (ราว 219,500 ล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตปีต่อปีที่ 2.6% และคาดว่าจะทะลุ 500,000 ล้านหยวน (ราว 250,000 ล้านบาท) ในปี 2026 การเติบโตนี้ได้รับแรงสนับสนุนจาก การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และ แนวโน้มการบริโภคเพื่อความพึงพอใจส่วนบุคคล ไปจนถึงความนิยมในผลิตภัณฑ์ที่สร้างประสบการณ์ เช่น กลิ่นหอมในบ้านและเครื่องหอมส่วนบุคคล อีกทั้งตลาดนี้ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้เล่นทั้งในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิต OEM หรือแบรนด์ที่ต้องการสร้างความต่างผ่านกลิ่นเฉพาะตัว
ที่มาของรูป https://www.sgpjbg.com/baogao/621206.html
แถบโซนยุโรปและอเมริกา แบรนด์หรูอย่าง CHANEL (ฝรั่งเศส) และ LE LABO (สหรัฐฯ) ยังคงเป็นที่นิยมสูงสุด โดยเฉพาะในแง่การค้นหาออนไลน์ (Top 1 Search) ตอกย้ำภาพลักษณ์ความหรูหราและคุณภาพที่ผู้บริโภคจีนให้ความเชื่อมั่น
แถบโซนจีน แบรนด์ท้องถิ่น 野兽派 (The Beast) ติดอันดับสูงสุดในด้านการอ่านรีวิว (Top 1 Reading) สะท้อนการยอมรับแบรนด์ภายในประเทศที่เข้าใจวัฒนธรรมและรสนิยมของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
แถบโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PANPURI จากไทยกลายเป็นแบรนด์ที่มาแรง ด้วยอัตราการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 141% โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แนวธรรมชาติและสมุนไพรที่โดนใจผู้บริโภคยุคใหม่
แถบโซนญี่ปุ่นแบรนด์ SHIRO เน้นแนวคิด Clean Beauty ปราศจากสารเคมีรุนแรง และดีไซน์เรียบง่ายสไตล์มินิมัล มีอัตราการอ่านรีวิวเพิ่มขึ้น 36%
แถบโซนตะวันออกกลางอย่างแบรนด์ AMOUAGE จากโอมาน โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมลึกลับแบบอาหรับ มียอดอ่านรีวิวเพิ่มขึ้น 56% ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ตลาดจีนไม่ได้ผูกติดกับเพียงแบรนด์เครื่องหอมจากยุโรปหรืออเมริกาอีกต่อไป แต่เปิดรับผลิตภัณฑ์จากเอเชียและตะวันออกกลางมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่เน้นวัตถุดิบธรรมชาติ หรือมีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นเฉพาะทาง
ตลาดเครื่องหอมในจีนกลายเป็นพื้นที่แห่งการแข่งขันระหว่างแบรนด์นานาชาติที่ต่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งจากฝั่งตะวันตกที่เน้นความหรูหรา ไปจนถึงแบรนด์เอเชียที่ผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับคุณภาพระดับโลก โดยเฉพาะแบรนด์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น PANPURI จากไทย ถือเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามอง ด้วยยอดวิวบนโซเชียลจีนกว่า 59 ล้านวิวในปี 2024 ส่วนใหญ่มาจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกวางตุ้ง โดยโพสต์ 90% อยู่บน Little red book (小红书) คำค้นยอดฮิตได้แก่ น้ำมันหอมระเหย น้ำมันบำรุงผิวกาย น้ำหอม กลิ่นหอมโดยเฉพาะ น้ำมันบำรุงผิวกาย ที่ได้รับคำชมเรื่องความชุ่มชื้น ซึมไว กลิ่นหอม คุ้มค่า จนขึ้นแท่นอันดับ 1 แบรนด์ต่างประเทศในหมวด น้ำมันบำรุงผิวกาย ที่มีอัตราการซื้อซ้ำสูงสุดบน Tmall
นอกจากแบรนด์ PANPURI แล้วยังมี THANN, HARNN และ KARMAKAMET สินค้าแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า “กลิ่นหอมแบบสมุนไพรไทย” ก็สามารถสร้างความหลงใหลได้ไม่แพ้ใคร
ข้อคิดเห็น สคต.เซี่ยงไฮ้
ตลาดเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์สปาในจีนตอนนี้อยู่ในช่วง “เติบโตอย่างมั่นคง” หลังจากผ่านช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะแรก ตลาดเริ่มเข้าสู่จุดที่มีความเสถียรและมีโครงสร้างชัดเจนขึ้น ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นและให้ความสำคัญกับคุณภาพ ประสบการณ์ และเรื่องราวของแบรนด์ ทำให้การแข่งขันในตลาดมุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างและความลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปริมาณหรือการเติบโตแบบหวือหวา
แม้การเติบโตจะชะลอตัวลงบ้างในแง่ของอัตรา แต่ “ขนาดตลาด” ยังใหญ่มาก และยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับแบรนด์ใหม่ ๆ หรือผู้เล่นจากต่างประเทศที่สามารถสร้างจุดขายที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความเป็นธรรมชาติ ความหรูหรา หรือกลิ่นที่มีเอกลักษณ์
นอกจากนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมในระดับ “ต้นน้ำ–กลางน้ำ” เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ น้ำหอมสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการผลิตกลิ่น ยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว
แหล่งที่มา
https://report.iimedia.cn/repo203-0/43712.html
https://www.sgpjbg.com/baogao/621206.html
https://zhuanlan.zhihu.com/p/1892944347948885462
驻上海海外贸易促进办公室
พฤษภาคม 2568