คาดการณ์มูลค่าการบริโภคอาหารแช่แข็งทะลุ 1 ล้านล้านเยน

มูลค่าการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งภายในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีมูลค่าทะลุ 8 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรก
สมาคมอาหารแช่แข็งแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Frozen Food Association) ได้ประกาศตัวเลขมูลค่าการส่งสินค้าแช่แข็งของโรงงานของปี 2567 เท่ากับ 800,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปีก่อน และปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 0.5 หรือเท่ากับ 1.54 ล้านตัน หากรวมมูลค่าผักแช่แข็งและอาหารแช่แข็งนำเข้าแล้ว คาดการณ์มูลค่าการบริโภคโดยรวมปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 หรือเท่ากับ 2.93 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 หรือเท่ากับ 1.3018 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3 แสนล้านบาท)
สมาคมฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของสินค้าแช่แข็งว่า “สินค้าประเภทอาหารแช่แข็งจานเดียวสำหรับรับประทานภายในครัวเรือนมีสินค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทำให้ความต้องการสินค้าแช่แข็งยังสูงอยู่มาก” แม้ปริมาณการผลิตสินค้าแช่แข็งภายในประเทศประเภทสินค้าสำหรับครัวเรือนมีปริมาณลดลง แต่สินค้าแช่แข็งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าสินค้าที่มีการส่งออกจากโรงงานนั้นสูงขึ้นทั้งสินค้าสำหรับครัวเรือนและสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมเนื่องจากมีการขึ้นราคาสินค้า
จากข้อมูลสถิติการค้าของกระทรวงการคลังพบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าผักแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 หรือเท่ากับ 1.17 ล้านตัน มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 8.9 หรือเท่ากับ 3.312 แสนล้านเยน (ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท) ประเทศนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า
สมาคมฯ เผยแพร่ข้อมูล “ปริมาณการบริโภค” โดยคำนวณจากปริมาณการผลิตภายในประเทศรวมกับปริมาณการนำเข้าสินค้าผักแช่แข็งและอาหารแช่แข็ง ซึ่งเมื่อหารด้วยจำนวนประชากรแล้วพบว่า ประชากร 1 คนบริโภคสินค้าแช่แข็ง 23.6 กิโลกรัม/ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กิโลกรัมจากปีก่อน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมร้านอาหารขาดแคลนแรงงาน และผู้บริโภคต้องการความสะดวกในการทำอาหาร ทำให้ความต้องการอาหารแช่แข็งที่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับสินค้าไทยไม่ว่าจะเป็น ผักแช่แข็ง กุ้งหรือไก่แช่แข็ง ฯลฯ และด้วยตลาดญี่ปุ่น มีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น การส่งออกสินค้ามาประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบการจัดการ รวมถึงการเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การพึ่งพาการส่งออกประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นมีความเสี่ยง จึงควรมีแผนในการกระจายความเสี่ยงโดยแบ่งการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2568

zh_CNChinese