เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ในการประชุม Chengdu International Aviation Hub High-Quality Development Promotion Conference ณ นครเฉิงตู ประกาศว่าในปี 2568 เฉิงตูจะเปิดเส้นทางบินตรงใหม่และเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางบินสู่เมืองปารีส เอเธนส์ มิลาน มาดริด ดูไบ บาหลี โตเกียว โอซาก้า บรัสเซลส์ ปีนัง ปราก กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และเชจู รวมทั้งหมด 14 เส้นทางครอบคลุม 13 เมือง ทั้งในรูปแบบผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ซึ่งการที่เฉิงตูเปิดเส้นทางบินใหม่ในครั้งนี้สะท้อนถึงการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทั่วโลก ช่วยให้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความเข้าใจระหว่างประเทศ และภูมิภาคต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อาทิ
- เส้นทางสู่ดูไบ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศแบบเต็มลำของเฉิงตูที่เชื่อมตรงสู่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนทางตะวันออกและทางใต้
- เส้นทางสู่มาดริด เพิ่มการเชื่อมต่อไปยังยุโรปตอนใต้ และเป็นส่วนเติมเต็มกับเครือข่ายโลจิสติกส์ สู่เมืองสำคัญในยุโรป เช่น บรัสเซลส์ และบูดาเปสต์
- เส้นทางสู่ปารีส เชื่อมต่อกับมหานครอันดับสองของยุโรป
กลุ่มบริษัทท่าอากาศยานมณฑลเสฉวนระบุว่า ภายในปีนี้จะเปิด/กลับมาเปิด และเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอีก 28 เส้นทาง เพื่อพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทางอากาศที่เชื่อมโยงกับยุโรป ตะวันออกกลาง และอาเซียน
อย่างไรก็ดี แม้เส้นทางบินใหม่นี้จะยังไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็สามารถจุดกระแส ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจได้อย่างชัดเจน โดยนายเฉินเจีย ตัวแทนบริษัทการค้าต่างประเทศในนครเฉิงตู กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าทุเรียนหนามดำ จากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากเส้นทางบินตรงระหว่างเฉิงตูกับปีนังซึ่งใช้เวลาเพียง 4.5 ชั่วโมง ทั้งยังตั้งเป้านำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งเที่ยวบิน
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากเส้นทางใหม่นี้เช่นกัน โดยบริษัทท่องเที่ยวในเฉิงตูเปิดเผยว่า แพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่วางแผนเดินทางมาเยือนเฉิงตู ในช่วงวันหยุดแรงงาน 1 พฤษภาคมนั้น มียอดจองเต็มหมดแล้ว เหลือเพียงช่วงเดือนกรกฎาคมที่ยังมีที่ว่างบางส่วน พร้อมกันนี้ ยังมีแผนจะจัดกรุ๊ปทัวร์เดินทางมาเฉิงตูทุกสัปดาห์ และเชิญผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้าร่วมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในเฉิงตูอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขที่สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของเฉิงตู ไตรมาสที่ 1
ในไตรมาสแรกของปี 2568 เฉิงตูมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาค (GDP) รวม 593,030 ล้านหยวน (หรือประมาณ 2.72 ล้านล้านบาท) เติบโตขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้า ส่งออกอยู่ที่ 206,520 ล้านหยวน (หรือประมาณ 9.47 แสนล้านบาท) เติบโตร้อยละ 11.9 คิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้ารวมของทั้งมณฑลเสฉวน และเป็นแรงขับเคลื่อนให้การค้าต่างประเทศของทั้งมณฑลเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
ปัจจุบัน เฉิงตูดึงดูดโครงการลงทุนสำคัญกว่า 331 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 255 ของเป้าหมาย ช่วงต้นปี มูลค่ารวมการลงทุน 295,900 ล้านหยวน (หรือประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท) ซึ่งเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้ง มีการจัดตั้งบริษัทต่างชาติใหม่ 147 แห่ง เติบโตร้อยละ 8.89 เมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ เฉิงตูยังดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ถึง 638 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท) เติบโตร้อยละ 74.04 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และมีมูลค่า FDI รวมสูงที่สุดในเขตเมืองภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน
*คำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 29 เมษายน 2568 โดย 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 33.40 บาท และ 1 หยวน : 4.58 บาท
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
เฉิงตูเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นอัญมณีบนเส้นทางสายไหมฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ และยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) ด้วยข้อได้เปรียบเชิงพื้นที่ที่โดดเด่นนี้ ทำให้เฉิงตูมีบทบาทสำคัญในการเปิดประเทศสู่ภายนอก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฉิงตูยึดมั่นในแนวทางเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลาย ร่วมมือกับนานาประเทศอย่างแข็งขัน และใช้การเปิดประเทศในระดับสูงเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีคุณภาพ ทำให้เมืองเปี่ยมด้วยพลังชีวิตและพลวัตทางเศรษฐกิจ การประกาศของเฉิงตูเกี่ยวกับการเปิดเส้นทางบินใหม่และการเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินระหว่างประเทศในปี 2568 ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลเชิงบวกต่อการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง การพัฒนานี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งการเพิ่มเส้นทางบินใหม่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าบางประเภทที่ต้องการการขนส่งที่รวดเร็วและมีความปลอดภัย เช่น ผลไม้สด อาหารแช่แข็ง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางบินใหม่ในการปรับกลยุทธ์การขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการขนส่ง และลดต้นทุนการขนส่งได้
————————————————–
驻成都国际贸易促进办公室
เมษายน 2568
แหล่งข้อมูล :
ศูนย์บริการของรัฐบาล ณ นครเฉิงตู
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1830350904086368574&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1830383221375990951&wfr=spider&for=pc
https://cj.sina.com.cn/articles/view/1523766213/5ad2d3c5020013bac