ช้อปปิ้งออนไลน์ ดันยอดขายธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

ล่าสุด บริษัท Digital Commerce 360 ได้รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา ว่า ปีที่ผ่านมา ยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกาได้ทำสถิติใหม่สูงสุดด้วยมูลค่าแตะสูงถึง 1.192 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นยอดขายของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในทวีปอเมริกาเหนือจำนวน 2 ราย คือ บริษัท Amazon และ ห้าง Walmart ด้วยมูลค่ายอดกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลทำให้ยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ในปี 2567 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 7.5 มีการเติบโตมากกว่าสองเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับยอดค้าปลีกรวมทั้งหมดซึ่งเติบโตในอัตราอยู่ที่ร้อยละ 2.6 อีกทั้งมีอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบจากในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 571.088 พันล้านเหรียญในปี 2562

ทั้งนี้ การติดตามการเก็บข้อมูลด้านการค้าปลีกของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการจัดทำขึ้นนับตั้งแต่ปี 2543 โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และทางบริษัท Digital Commerce 360 ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ และพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา การเจาะตลาดการค้าปลีกในสหรัฐฯ โดยผ่านช่องทางธุรกิจอีคอมเมริซ์ มีอัตราการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ในทุกๆ ปีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเพียงในปี 2565 ที่การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซลดลงเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 20.8 ในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 20.7

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ทำสถิติแตะอยู่ที่ร้อยละ 22.7 ด้วยความนิยมของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีต่อการช้อปปิ้งออนไลน์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ในทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2543 ยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซอยู่ในอันดับไม่ต่ำกว่าอันดับ 5 ของยอดค้าปลีกรวมทั้งหมด

ผู้ประกอบการค้าปลีก ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ที่ใหญ่อันดับ 1 ได้แก่ บริษัท Amazon และใหญ่อันดับ 3 ในระดับ Global Online Marketplace ในขณะที่ห้าง Walmart ใหญ่อันดับ 2 ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ และใหญ่อันดับ 9 ในระดับ Global Online Marketplace. และในปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัท Amazon และ ห้าง Walmart มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 40 ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ

10 อันดับแรกของผู้ประกอบการค้าปลีกสหรัฐฯ ที่มียอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมูลค่ามากที่สุดในปี 2567 ได้แก่

1. Amazon 487.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2. Walmart Inc. 100.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ

3. Apple 39.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ

4. eBay 35.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ

5. The Home Depot 22.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ

6. Target 19.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ

7. Costco 17.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ

8. The Kroger 17.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ

9. Best Buy 12.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ

10. Carvana 12.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อคิดเห็น

1. นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ และส่งผลต่อยอดค้าปลีกทางออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยอดขายของช่องทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 คิดเป็นร้อยละ 16.4 ของยอดค้าปลีกทั้งหมด และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีทีผ่านมา โดยยอดขายในไตรมาส 4 ประเมินอยู่ที่ 308.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2. ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และช้อปปิ้งมอลล์ต่างๆ ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มทะยอยปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น ด้วยพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันหันมานิยมการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนการซื้อสินค้าตามห้างร้าน โดยล่าสุด ร้านค้าปลีก Forever 21 จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นประเภท Fast Fashion ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้ Chapter 11 ครั้งที่ 2 ในรอบ 6 ปี และทะยอยปิดร้านสาขา โดยก่อนหน้านี้ มีร้านค้าปลีก อย่าง Joann Fabric, Party City, Big Lots ต่างได้ทะยอยปิดกิจการเช่นกัน จากผลกระทบของการค้าปลีกทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้ง การแข่งขันด้านราคาสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่ใช้ช่องว่าด้านภาษีในการรุกตลาด อย่าง สินค้าของบริษัท Temu

3. แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 4.25 – 4.50 แต่ปัจจัยด้านราคาสินค้านำเข้า ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ และในระยะเวลา 12 เดือนจนถึงกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ราคาสินค้านำเข้ามีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ทั้งนี้สงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะมีการปรับเพิ่มภาษีตอบโต้ในยุคทรัมป์ 2.0 จะเป็นปัจจัยเร่งต่อภาคการนำเข้า และกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าของผู้นำเข้า ผู้ประกอบการค้าปลีก และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ที่ต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

zh_CNChinese