ปัจจุบัน เศรษฐกิจเยอรมันอยู่ในภาวะชะงักงันและซบเซา อีกทั้ง นักวิเคราะห์เศรษฐกิจก็คาดการณ์สถานการณ์สำหรับปีใหม่นี้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะหมดหนทาง เป็นที่น่าจับตามองว่าปัจจัยใดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 นี้
การคาดเดาสภาวะเศรษฐกิจเยอรมันในปัจจุบันดูจะเลวร้าย ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินสถานการณ์จากข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เช่น การสั่งซื้อสินค้าของบริษัท การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค การส่งออก หรือแม้แต่ความคาดหวังของระดับผู้บริหาร
นาย Gertrud Traud ประธานทีมเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน Helaba แสดงความคิดเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเยอรมันในช่วงสองปีที่ผ่านมายังไม่มีการเติบโต โดยหากพิจารณารายละเอียดจะพบว่ามีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐเท่านั้นที่เติบโต ต่างจากภาคเอกชนที่ถดถอย รวมถึงบรรยากาศของผู้บริโภคและบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่สู้ดีนัก
ประเทศเยอรมนียังเป็น “คนป่วย” แห่งยุโรป
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น สถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมัน (Institut der deutschen Wirtschaft (IW)) ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะยังคงหยุกชะงักในปี 2568 และ จะเติบโตเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ในขณะที่ องค์กร OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ประเทศเยอรมนีตกอยู่ในอันดับรั้งท้ายของประเทศอุตสาหกรรม
ทางด้านนาย Carsten Brzeski ประธานทีมเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน ING Bank กล่าวว่าประเทศเยอรมนียังเป็นประเทศที่ป่วยหนักของยุโรป และคาดการณ์ว่าปี 2568 จะเป็นปีแห่งความตึงเครียดและสงครามการค้า ในทางกลับกัน เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกามึความน่าสนใจ ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทเยอรมัน หันไปให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ในขณะที่ ประเทศเยอรมนียังมีสงครามในยุโรป รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน อีกทั้ง ในปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลกลางชุดใหม่
รัฐบาลชุดใหม่และการบริโภคจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเยอรมันหรือไม่
เป็นที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะฟื้นตัวอีกครั้งหลังการเลือกตั้งรัฐบาลกลางในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ นาย Brzeski กล่าวเสริมว่า ความหวังทางเศรษฐกิจของเยอรมนียังขึ้นอยู่กับการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางชุดต่อไป เช่น แพ็คเกจการลงทุน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้าง หลังจากนั้นเศรษฐกิจของเยอรมนีจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ความหวังยังมาจากอัตราการบริโภคอีกด้วย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง อัตราค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในบางภาคส่วน ซึ่งนาย Clemens Fuest ประธานสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ IFO แห่งนครมิวนิก เน้นย้ำว่า ขณะนี้ครัวเรือนต่าง ๆ ยังคงนิยมถือเงินสดไว้ เนื่องจากกังวลถึงอนาคต อย่างไรก็ตาม นาย Fuest แสดงความคิดเห็นว่าอย่างน้อยผู้บริโภคจะใช้รายได้ส่วนหนึ่งจับจ่ายสนองต่อความต้องการของตนเอง ซึ่งจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
โอกาสและความไม่แน่นอนในการส่งออก
นาย Fuest ยังมองว่าการส่งออกเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจเยอรมัน โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่ตลาดส่งออกบางแห่งมีความยากลำบากมากขึ้น เช่น จีน หรือสหรัฐอเมริกา แต่นั่นก็หมายความว่าเยอรมันต้องมองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ และต้องแน่ใจว่าไม่ลืมตลาดภายในสหภาพยุโรปด้วย เพราะยังมีช่องว่างมากมาย โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่เยอรมนีควรใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจเยอรมันยังขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด การได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเยอรมนี
จะเกิดอะไรขึ้นหากสถานการณ์แตกต่างออกไป
เป็นที่น่ากังวลว่าสิ่งต่าง ๆ อาจแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นาย Traud ประธานทีมเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน Helaba กล่าวย้ำว่า รัฐและองค์กรระหว่างประเทศอาจทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นอีกครั้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจลดลง การวางแผนด้านความปลอดภัยอาจเพิ่มขึ้น และอาจมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย ซึ่งหมายความว่า ในกรณีที่ดีที่สุด เศรษฐกิจเยอรมันอาจขยายตัวถึงร้อยละ 1 และความคลุมเคลือของเศรษฐกิจเยอรมันจะเบาบางลง
แหล่งที่มา: tagesschau.de
ภาพประกอบ: freestocks