“ตลาด CBD: ความท้าทายของวิธีการตรวจวัดสารก่อนการแก้ไขกฎหมายญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม”

หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดบังคับใช้กฎหมายควบคุมกัญชาฉบับแก้ไขในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ความคาดหวังของอุตสาหกรรมและวงการแพทย์ต่อ CBD (Cannabidiol) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฎหมายฉบับแก้ไขนี้ มีการจำกัดและระบุปริมาณ THC Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์มึนเมาไว้อย่างชัดเจน เป็นการช่วยขจัดความคลุมเครือทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับ CBD อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาด แต่ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการตรวจวัดค่าความเข้มข้นกลายเป็นประเด็นใหม่ที่มีการพูดถึงการจำกัดปริมาณการตกค้างของ THC ในผลิตภัณฑ์ CBD นั้น ผลิตภัณฑ์ CBD ประเภทน้ำมันหรือผงกำหนดไว้ที่ 10ppm ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มกำหนดไว้ที่ 0.1ppm และผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและอาหารเสริมกำหนดไว้ที่ 1ppm ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ห้ามมีค่า THC เกินกว่าที่กำหนด ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการเรียกร้องให้ดำเนินการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อาจมีค่าสาร THC เกินกว่ากำหนดก่อนวันบังคับใช้กฎหมาย ในการประชุมสัมมนากัญชงนานาชาติครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงวิธีการตรวจวัดปริมาณ THC โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่ม CBD ซึ่งมีการจำกัดค่าที่ 0.1ppm ซึ่งเป็นการจำกัดค่าที่เข้มงวด ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการตรวจวัดค่าและองค์กรหรือสถาบันที่สามารถวิเคราะห์ผลได้ ทำให้เห็นถึงประเด็นปัญหาและความยากลำบากในการตรวจวัดค่า นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นอีกด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น หากมีการทำปฏิกิริยากับส่วนประกอบอื่น อาจทำให้ปริมาณ CBD ลดลงหรืออาจเปลี่ยนเป็น THC ซึ่งในประเด็นนี้ ภาควิชาตจวิทยา(ผิวหนัง) มหาวิทยาลัยโตเกียวมีความเห็นว่า หากมี THC ที่เป็นสารมาตรฐาน จะสามารถเปรียบเทียบวิเคราะห์ความเข้มข้นได้

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ CBD ในอุตสาหกรรมและการแพทย์ ในประเทศไทยนั้น การจำกัดปริมาณการตกค้างของ THC ในผลิตภัณฑ์ CBD ถูกกำหนดไว้ที่ 0.2% ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของ WHO ขณะที่มาตรฐานของญี่ปุ่นสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันหรือผงอยู่ที่ 10ppm = 0.001% มีความเข้มงวดกว่าประเทศไทยอย่างมาก การพัฒนา CBD เพื่อจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานของญี่ปุ่น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2567
อ้างอิง
https://www.ncd.mhlw.go.jp/dl_data/cbd/cbdtebiki_20241015.pdf
https://www.ncd.mhlw.go.jp/cbd.html

zh_CNChinese