นับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 สำนักการชำระเงิน ธนาคารกลางเวียดนาม รายงานจำนวนกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ที่มีการใช้งานจริงภายในประเทศสูงกว่า 34 ล้านใบ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59 ของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดใช้งานทั้งหมด 58 ล้านใบ

รายงานระบุว่า เวียดนามมีบริษัทตัวกลางการชำระเงิน 50 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 48 แห่ง บัญชีชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ 9.13 ล้านบัญชี และการทำธุรกรรม 128 ล้านรายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 4.78 ล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 6,582 ล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567

การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนของปี 2567 มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 104.23 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566

ตามข้อมูลของบริษัท National Payment Corporation of Vietnam (Napas) ในปี 2566 ตลาดการชําระเงินในเวียดนามมีธุรกรรมการชําระเงินแบบไม่ใช่เงินสด 3,500 ล้านรายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 6.6 หมื่นล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 90.88 ล้านล้านบาท) จํานวนธุรกรรมผ่าน QR Code ประมาณ 183 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 170 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดผ่าน QR Code อยู่ที่ประมาณ 116 ล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 0.15 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับปี 2565 ยอดธุรกรรมชำระเงินออนไลน์ จะอยู่ที่ประมาณ 210 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 0.2 ล้านล้านบาท)

การหมุนเวียนบัตรมากกว่า 145 ล้านใบ โดยมียอดชําระบัตรทั้งหมดมากกว่า 1,800 ล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบเป็นรายปี

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยแบบไร้เงินสดของผู้บริโภคเวียดนาม จากการที่เวียดนามมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่ทันสมัย และรัฐเน้นนโยบายมุ่งสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยตั้งเป้าว่าในช่วงปี 2564-2568 สร้างระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย สะดวก และคุ้มค่าสำหรับประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะเพิ่มอัตราการชำระเงินแบบไร้เงินสดในอีคอมเมิร์ซเป็นร้อยละ 50 และมูลค่าการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากกว่า GDP ถึง 25 เท่าภายในปี 2568 ปัจจุบันเวียดนามมีระบบรับชําระเงินออนไลน์ E-Wallet ที่พัฒนาโดยสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยมีธนาคาร 18 แห่ง ให้บริการ ทำให้จำนวนผู้ซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในตัวเมืองจะมีความคุ้นเคยกับการจ่ายเงินด้วย E-Wallet  ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าไฟ หรือค่าขนส่ง เป็นต้น จนมีผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ ที่สามารถครองตลาดเป็นที่นิยมของคนท้องถิ่นและคนต่างชาติที่ทำงานในเวียดนาม ได้แก่ MoMo e-Wallet,  VnPay e-Wallet และ Zalo Pay

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

จากสถิติของธนาคารกลางเวียดนาม ณ สิ้นปี 2566 ทั้งประเทศจะมีบัญชีการชำระเงินของลูกค้ารายบุคคลมากกว่า 182 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87.08 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีบัญชีธนาคารหลายแห่งมีธุรกรรมมากกว่าร้อยละ 95 ที่ดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ จำนวนธุรกรรมการชำระเงินผ่านโทรศัพท์ และ QR Code ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจเข้ามาขยายตลาดสินค้าและบริการในประเทศเวียดนาม ควรให้ความสำคัญกับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยวิธีการชำระเงินแบบดิจิทัล เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมกับช่องทางการชำระเงินดิจิทัลในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคเวียดนามในวงกว้างได้

 

zh_CNChinese