อิรัก ทูรเคีย กาตาร์ & ยูเออี ร่วมลงนาม MoU โครงการพัฒนาถนนเชื่อม 4 ประเทศมูลค่า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอิรักและประธานาธิบดีตุรกีเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU)  ระหว่างอิรัก สาธารณรัฐทูร์เคีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อร่วมมือกันในโครงการ The Development Road พัฒนาเชื่อมต่อถนน ทางรถไฟและทางทะเล ระหว่าง 4 ประเทศ ไปยังสาธารณรัฐทูร์เคีย เพื่อการส่งออกและนำเข้าจากยุโรปและเอเชีย มูลค่า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โครงการนี้ได้รับการ ขนานนามว่าเป็น “เส้นทางสายไหมใหม่” สามารถลดระยะเวลาในการขนส่งลงอย่างมาก อาจกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างเอเชียและยุโรปได้ พร้อมที่จะแข่งขันกับทั้งโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Chinese Belt and Road Initiative) และระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย ตะวันออกกลางและยุโรป (India-Middle East-Europe Economic Corridor) ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ตัดผ่านอิรัก

จากการแถลงข่าวของกระทรวงคมนาคม-กาตาร์ระบุว่าโครงการฯจะดำเนินการใน 3 ระยะ โครงการระยะแรกจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2571 ระยะที่สองใน พ.ศ. 2576 และระยะที่สามใน พ.ศ. 2593 โดยจะสร้างเส้นทางบกและทางรถไฟที่ขยายจากอิรักไปยังท่าเรือในสาธารณรัฐทูร์เคีย เพื่อส่งออกและนำเข้าจากยุโรป

The Development Road ประกอบด้วยถนนความยาว 1,190 กิโลเมตร (ประมาณ 740 ไมล์) สำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า และรางคู่สำหรับรถไฟโดยสารและรถไฟบรรทุกสินค้า เริ่มต้นที่ท่าเรือ Faw บนฝั่งอ่าวอาหรับในเมือง Basra ทางตอนใต้อิรัก และสิ้นสุดที่เมือง Faysh Khabur บนพรมแดนระหว่างอิรักและทูร์เคีย ก่อนที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายทางรถไฟและทางหลวงของตุรกีภายในปี 2571

ความสามารถในการขนส่งของรถไฟบรรทุกสินค้าคาดว่าจะสูงถึง 3.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้า  เทกอง 22 ล้านตันต่อปี หลังจากนั้นอีก 10 ปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 7.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณสินค้า 33 ล้านตัน ภายในปี 2593 จะมีสินค้าถึง 40 ล้านตัน ความจุเริ่มต้นของรถไฟความเร็วสูงคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 13.8 ล้านคนต่อปี

จุดประสงค์หลักของโครงการ

อิรักประกาศว่า The Development Road   เป็นโครงการสำคัญที่พยายามใช้ประโยชน์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศและพรมแดนที่หลากหลาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งผ่านถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่ออ่าวอาหรับกับสาธารณรัฐทูร์เคีย  เพื่อส่งเสริมการค้าและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดน ไม่เพียงแต่ระหว่างประเทศในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชีย  ยุโรป และแอฟริกา หากประสบความสำเร็จ The Development Road    จะยกระดับสถานะทางภูมิศาสตร์การเมืองของอิรักในฐานะระเบียงการค้า และให้ผลตอบแทนทางการเงินและโอกาสในการทำงานลดการพึ่งพาไฮโดรคาร์บอนของรัฐ และเพิ่มการจ้างงานในภาครัฐให้กับคนหนุ่มสาว โครงการนี้ยังเป็นความพยายามที่จะแนะนำรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ และบรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายของเศรษฐกิจ

ผลประโยชน์ของประเทศ GCC

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์เป็นสมาชิก GCC ที่ร่วมพัฒนาโครงการนี้ และอาจเป็นผู้สนับสนุน  ทางการเงินหลัก  โดยทั่วไปอาจมองว่าโครงการนี้เป็นคู่แข่งที่มีสำคัญสำหรับท่าเรือ Jebel Ali ของยูเออี แต่จากปัญหาวิกฤตทะเลแดงของกลุ่มฮูติ ทำให้ประเทศใน GCC มองหาเส้นทางใหม่ที่ปลอดภัยสามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย   ในการค้ากับยุโรปและอเมริกา และจากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงอิรักระบุว่า ในระหว่างการเยือนอาบูดาบีของนายกรัฐมนตรี Mohammed Shia al-Sudani ของอิรักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  ได้เสนอให้ยูเออีมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่าเรือ Faw  พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนจากยูเออี และการที่จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของบริษัทในยูเออีในการบริหารจัดการท่าเรือขนาดใหญ่ด้วย

อุปสรรคของโครงการ

มีหลายฝ่ายมองว่าประเทศอิหร่านไม่สนับสนุนโครงการนี้เท่าใด  เนื่องจากโครงการของอิรักแข่งขันกับเส้นทางอื่นๆที่ผ่านดินแดนอิหร่าน   เส้นทางสายนี้สามารถใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนเส้นทางอื่นที่วางแผนไว้เพื่อเชื่อมทูร์เคียกับยูเออีผ่านอิหร่าน ในขณะเดียวกัน อิหร่านซึ่งได้ทำข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับจีน ยังพยายามที่จะทำให้ท่าเรือของตนเป็นที่ตั้งหลักสำหรับการค้าที่เชื่อมโยงจีน เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง รัฐบาลอิหร่านได้พัฒนาท่าเรือใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ และในอ่าวอาหรับตอนเหนือ ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อเชิงกลยุทธ์สำหรับการเชื่อมต่อเชิงพาณิชย์ระดับโลก

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติอิรักไม่ได้เป็นจุดสําคัญในการเชื่อมต่อในตะวันออกกลาง ของเส้นทางบกของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน  โดยหลักจะผ่านประเทศเอเชียกลางและทูรเคีย โดยไม่ผ่านอิรัก ดังนั้นรัฐบาลอิรักต้องการให้ทำให้ท่าเรือ Faw เป็นโครงการเสริม เป็นเส้นทางทะเลใหม่ที่จะให้บริการกับประเทศจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งอาจลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการค้ากับยุโรป

อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคมากมายในการบรรลุเป้าหมายของ The Development Road    ที่บ่งชี้ว่าความทะเยอทะยานของอิรักอาจสูงเกินจริง ซึ่งรวมถึงความสามารถของรัฐบาลในการจัดหาเงินทุนและดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดจากการคอร์รัปชั่นและการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล  เมื่อความต้องการไฮโดรคาร์บอนลดลงและราคาดิ่งลง จะตอกย้ำแนวคิดที่ว่าอิรักไม่สามารถกระจายเศรษฐกิจของตนได้ อีกทั้งคาดว่ามีบางประเทศสามารถบ่อนทําลายแผนการของอิรักในการดําเนินการเส้นทางการพัฒนา เช่น อิหร่าน และคูเวต ที่เสียผลประโยชน์จากโครงการนี้

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ

The Development Road    จะทำให้อิรักกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ เปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าและการเดินทางผู้คนระหว่างอ่าวอาหรับหรืออ่าวเปอร์เซีย ตุรกี และยุโรป ในขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นอย่างมากอีกด้วย ปัจจุบันอิรักพึ่งพิงรายได้จากภาคน้ำมันถึง 90% การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 55% ของ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

การค้าระหว่างไทยกับอิรักปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) รวม 236 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 16.4 สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ ข้าว รถยนต์และอะไหล่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้า กระดาศ ปลากระป๋อง เครื่องสำอางและเครื่องดื่ม และไม่ปรากฏการนำเข้าจากอิรัก

 

zh_CNChinese