“ถ้าไม่มีเกษตรกรรมและปศุสัตว์ โต๊ะอาหารของคุณก็จะว่างเปล่า”

ม็อบเกษตรกรสเปนบุกเมืองหลวง เตรียมแผนประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศ

 

วันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มชาวสเปนหลายร้อยรายเคลื่อนขบวนรถแทรกเตอร์ เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงมาดริด เรียกร้องนโยบายการเกษตรใหม่เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางการค้า และขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้เส้นทางจราจรสำคัญถูกตัดขาด ทั้งทางหลวงและถนนหลักหลายเส้นทาง

 

วันนี้ องค์กรเกษตรกรรมหลัก 3 องค์กรของสเปน ได้แก่ ASAJA, COAG และ UPA ได้รวมตัวกันและเผยปฏิทินการระดมพลภายใต้คำขวัญ “ถ้าไม่มีเกษตรกรรมและไม่มีปศุสัตว์ โต๊ะอาหารของคุณก็จะว่างเปล่า” ต่อเนื่องจากที่ได้ร่วมเคลื่อนไหวพร้อมเกษตรประเทศอื่นๆ ในยุโรปตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยวันนี้ตบเท้าผ่านจุดสำคัญของกรุงมาดริดเพื่อไปรวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงเกษตร การประมงและอาหารสเปน

 

ในแถลงการณ์ร่วมระหว่าง Asaja, Coag และ Upa มีการยื่นเงื่อนไข อาทิ ต้องการให้การนำเข้าอาหารจากประเทศนอกสหภาพยุโรปมีความเข้มงวดและต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเดียวกันของสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ระงับการเจรจาข้อตกลง Mercosur เป็นต้น ทั้งนี้ สหภาพยืนยันว่าสถานการณ์ของพวกเขารุนแรงมาก ต้องประสบปัญหาราคาสินค้าไม่เป็นธรรม การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ระบบราชการที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นภาระ และกฎระเบียบด้านเกษตรกรรมของสหภาพยุโรปที่เข้มงวด ฯลฯ

 

ปฏิทินการประท้วง:

  • แม้ว่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมงและอาหารสเปน ได้ประกาศ 18 มาตรการเพื่อตอบสนองต่อการระดมเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มชาวสเปนไปแล้ว แต่การเจรจาก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ
  • 21 กุมภาพันธ์: มูร์เซีย และ มาดริด
  • 22 กุมภาพันธ์: อารากอน บาเลนเซีย และ กาดิซ
  • 23 กุมภาพันธ์: เลออน
  • 27 กุมภาพันธ์: กอร์โดบา

 

ม็อบเกษตรกรสเปนบุกเมืองหลวง เตรียมแผนประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศ

 

ข้อเรียกร้องของเกษตรกรและเจ้าของฟาร์ม

  1. ราคายุติธรรมเนื่องจากต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น – หนึ่งในความต้องการหลักของเกษตรกรคือให้สหภาพยุโรปแทรกแซงและกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูงกว่าต้นทุนการผลิตซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน เมล็ดพันธุ์พืช ราคาปุ๋ยหรือเครื่องจักรที่สูงขึ้น
  2. ลดภาระด้านเอกสารและขั้นตอนทางราชการ – ลดงานเอกสารให้มีประสิทธิภาพนี่เป็นอีกหนึ่งความต้องการอย่างมากของเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มที่มักจะต้องลงทุนเวลาจำนวนมากในการกรอกเอกสารนอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กฎระเบียบของยุโรปยังรวมถึงการบังคับใช้สมุดบันทึกดิจิทัลเพื่อเก็บบันทึกกิจกรรมทางการเกษตรที่ดำเนินการจากมาตรการนี้ เปโดร บาราโต ประธาน ASAJA ตั้งคำถามว่า “เราจะใช้มันอย่างไร หากในพื้นที่หลายแห่งไม่มีแม้แต่อินเทอร์เน็ต”
  3. หยุดการแข่งขันจากต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมภาค – มีการกล่าวหาว่าคณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประเทศนอกสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณ อีกทั้งยังไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เกษตรกรชาวยุโรปต้องเผชิญ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ หรือกฎระเบียบด้านเงินเดือน มิเกล ปาดิลลา เลขาธิการทั่วไปของ Coag อธิบายว่า “เช่น การเข้ามาของเนื้อวัวจากอเมริกาใต้ อาจเป็นภาระต่อการผลิตของประเทศได้ สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเนื้อแกะจากนิวซีแลนด์ หรือการนำเข้ามะเขือเทศและผักจากโมร็อกโก”
  4. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยปุ๋ยและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ – ข้อกำหนดในการลดปุ๋ย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง 20% ถึง 50% ในการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพพืชและสัตว์ เป็นหนึ่งในมาตรการที่เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ปฏิเสธเนื่องจากการเป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติและลดผลผลิตพืชผล นอกจากนี้ พวกเขาต้องการความยืดหยุ่นของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน ภาระผูกพันในการออกจากทุ่งหญ้าถาวร หรือการไม่เผาตอซัง- ในทำนองเดียวกัน พวกเขาขอให้สหภาพยุโรปช่วยเหลือในประเด็นอื่นๆ เช่น การคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือการไม่ทำลายองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ เช่น พุ่มไม้
  5. ทำให้กฎระเบียบด้านสวัสดิภาพสัตว์มีความยืดหยุ่นมากขึ้น – ภาคปศุสัตว์ สุกร หรือสัตว์ปีกส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยมีข้อกำหนดให้เพิ่มพื้นที่ฟาร์มต่อหน่วย ซึ่งหมายถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อการผลิตที่คล้ายคลึงกันตามที่กล่าวไว้ สิ่งนี้แสดงถึงการสูญเสียความสามารถในการทำกำไร และฟาร์มหลายพันแห่งอาจต้องปิดตัวลงสำหรับเจ้าของฟาร์ม
  6. ถอดหมาป่าออกจากรายการสัตว์คุ้มครองพิเศษ – ข้อเรียกร้องอีกประการหนึ่งคือให้เจ้าหน้าที่นำหมาป่าออกจากรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ป่าภายใต้ระบบการคุ้มครองพิเศษ (LESPRES) เนื่องจากสร้างความสูญเสียแกฟาร์มปศุสัตว์หลายแห่ง พร้อมมทั้งขอให้ผ่อนคลายกฎหมายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อการคุ้มครองสายพันธุ์
  7. ปกป้องฟาร์มขนาดกลางและขนาดเล็ก – ฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่กำหนดโดยกฎระเบียบใหม่ได้ ต้องปิดตัวลงจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันด้วยมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทขนาดใหญ่
  8. ต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม – ภาคธุรกิจเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศโมร็อกโกและประเทศในเอเชีย ทำให้เกษตรกรต้องต่อสู้ดิ้นรนเมื่อเผชิญกับตลาดที่ไม่ได้รับการควบคุม สร้างแรงกดดันต่อสินค้าจากสหภาพยุโรปและสินค้าที่ผลิตในสเปน โดยเกษตรกรเรียกร้องให้ระงับการเจรจาข้อตกลงต่างๆ เช่น MERCOSUR (พันธมิตรทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) ไม่ให้สัตยาบันข้อตกลงกับนิวซีแลนด์ และการเจรจากับชิลี เคนยา เม็กซิโก อินเดีย และออสเตรเลีย ทั้งนี้ เกษตรกรสเปนเรียกร้องให้การนำเข้าทั้งหมดมีกฎระเบียบและการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชและสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมือนกันกับสินค้าในสเปน และกำหนดให้มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับการเข้ามาของผลิตภัณฑ์นอกสหภาพยุโรป นอกจากนี้ พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่มการควบคุมบริเวณชายแดนติดกับโมร็อกโกเพื่อรับประกันว่าสินค้าเกษตรโมร็อกโกที่นำเข้าสอดคล้องกับกฎระเบียบภายในของสหภาพยุโรปและจำนวนภาษีที่จัดตั้งขึ้นใน ข้อตกลงการค้าเสรี
  9. การเปลี่ยนแปลงใน CAP (Common Agricultural Policy) – วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของการประท้วงคือการบรรลุความยืดหยุ่นและความเรียบง่ายของ CAP ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปสำหรับเกษตรกรและเจ้าของฟาร์ม อีกทั้งพวกเขายังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง Green Deal และกฎระเบียบอื่นๆ ของยุโรปเกี่ยวกับการหมุนเวียนทุ่งหญ้าหรือพืชผล
  10. เพิ่มหน่วยสังเกตการณ์การนำเข้า – พวกเขาขอให้จัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเกี่ยวกับการนำเข้าในกรุงบรัสเซลส์เพื่อให้การต่อสู้มีความเข้มแข็ง
  11. ภัยแล้ง – เกษตรกรสเปนเรียกร้องให้ประกันภัยการเกษตรได้รับการจัดสรรงบประมาณเสริม ที่สามารถครอบคลุมความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง และปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่เลวร้ายอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน พวกเขาแสวงหาข้อตกลงสำหรับนโยบายการจัดการน้ำ
  12. ซีเรียลยูเครน – เกษตรกรต้องการให้สหภาพยุโรปแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนเนื่องจากกฎระเบียบในปัจจุบันกดราคาธัญพืชสเปนให้ตกต่ำ
  13. การแก้ไขกฎหมายห่วงโซ่อาหาร – พวกเขาเรียกร้องให้มีการแก้ไขและขยายกฎหมายห่วงโซ่อาหารเพื่อห้ามการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อให้ราคาของเกษตรกรครอบคลุมต้นทุนการผลิตและไม่ถูกบังคับให้ขายขาดทุน
  14. ติดฉลาก ป้ายกำกับ – ขอให้การติดฉลากแสดงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  15. น้ำมันดีเซลสำหรับการเกษตร – เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มประสงค์จะให้ทางการไม่ยุตินโยบายลดภาระสำหรับน้ำมันดีเซลเพื่อการเกษตร รวมถึงการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเชื้อเพลิงและไฟฟ้า และลดภาษีอื่นๆ
  16. อื่นๆ

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

การเคลื่อนไหวของเกษตรกรสเปนและยุโรป เป็นสัญญาณเตือนผู้ผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกให้ต้องเตรียมตัวรับเงื่อนไขทางการค้าที่สูงขึ้นหากต้องการเข้าตลาดยุโรป ซึ่งสำหรับระเทศไทย ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่สูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน ดังนั้น การปรับตัวในระดับที่เหมาะสมตั้งแต่วันนี้จึงจะเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่งในอนาคต

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาดสเปนยังอยู่ในปริมาณค่อนข้างน้อย ปี 2566 ทั้งปีมูลค่าการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งมายังสเปน เท่ากับ 1.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผักสด แช่เย็น แช่แข็ง 0.10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะเห็นขยายตัวในระดับสูง คือ ร้อยละ 18.03 และร้อยละ 40 ตามลำดับ นับเป็นสินค้าศักยภาพเพราะตลาดมีการรับรู้ เปิดกว้าง และมีความต้องการมากขึ้น

 

ในทางกลับกัน ตลาดสเปนมีสินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนคู่แข่งของไทย อาทิ เวียดนาม ในปริมาณมากกว่าด้วยข้อได้เปรียบจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน จึงอาจได้รับผลกระทบมากกว่าในอนาคตหากการประท้วงบรรลุผลสำเร็จ

 

นอกจากนี้ สคต. เห็นว่าการประท้วงยังสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน เงินเฟ้อ ค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกินระดับการเติบโตของรายได้ในสังคมสเปน ซึ่งเป็นผลให้ผู้บริโภคทั่วไปต้องเลือกบริโภคสินค้าจากราคา ทำให้สินค้าไทยมีมีราคาสูงกว่าคู่แข่งต้องได้รับผลกระทบ

 

马德里国际贸易促进办公室

กุมภาพันธ์ 2567

zh_CNChinese