โปรตุเกส มีความสัมพันธ์อันดีและยาวนานกับประเทศไทยมาเป็นเวลา 512 ปี โดยเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับไทย แต่ในด้านการค้า ไทยและโปรตุเกสยังคงมีการทำธุรกิจระหว่างกันไม่มากนัก โดยในปี 2565 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 287.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปโปรตุเกส 194.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 93.73 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม จากสถิติล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 พบว่าการค้าระหว่างสองประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 (260.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ภาพรวมการค้าไทยกับทุกประเทศทั่วโลกหดตัวที่ร้อยละ 3.68 (479,961.40 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยในด้านการส่งออกนั้น ไทยส่งออกไปโปรตุเกสเพิ่มร้อยละ 5.98 (173.11 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ส่งออกไปทั่วโลกลดลงร้อยละ 2.72 (236,648.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) นับได้ว่าโปรตุเกสเป็นตลาดรองที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยไม่น้อย
สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปโปรตุเกส ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ วงจรพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เลนซ์ เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโปรตุเกส ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม กระดาษ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น
สำหรับตลาดโปรตุเกสในภาพรวมและพัฒนาการของตลาดหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19 พบว่าโปรตุเกสเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการค้าสินค้าและบริการไทยแม้จำนวนคนไทยจะไม่มากนัก (ประมาณ 2,000 คน เท่าสเปน) เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งและฟื้นฟูอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 GDP โปรตุเกสเติบโตร้อยละ 1.9 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสหภาพยุโรป (13) อื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ตามมาด้วยสเปน (1.8) และ เบลเยี่ยม (1.5) เป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน การคลังที่มีประสิทธิภาพ เน้นปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน มุ่งความมั่นคงทางพลังงานและดึงดูดนักท่องเที่ยวคู่ขนานกับการดึงดูดแรงงานทักษะสูงในภาคดิจิทัลรวมถึงผู้มีกำลังซื้อเข้าประเทศด้วยนโยบาย golden visa ที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือสัญชาติโปรตุเกสได้หลังพำนักอาศัย 2 ปี
ปัจจุบันจึงมีชาวสหรัฐอเมริกาและยุโรปอื่นๆ มาใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ มีนักท่องเที่ยวทั้งในเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติ และกีฬา ตลอดจนมีกลุ่ม Startups / Digital Nomads / Expats ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลักของโปรตุเกสจำนวนมาก ด้วยจุดแข็งด้านภาษา ระบบ health care ดี ค่าครองชีพต่ำ อากาศดี ทั้งหมดส่งผลเชิงบวกต่อการบริโภคสินค้าและบริการไทยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ นอกจากภาคบริการซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของ GDP ประเทศแล้ว โปรตุเกสยังมีจุดแข็งด้านพลังงานทดแทนและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเกือบร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีร้านอาหารไทยและสปาเปิดใหม่เพิ่มขึ้นรวมกว่า 10 ร้าน รวมเป็น 13 แห่งและ 16 แห่งตามลำดับ นอกจากการค้า ไทยยังมีการลงทุนในโปรตุเกส ได้แก่ Minor Group ด้านการโรงแรม Thai Union ลงทุนในโรงงานผลิตปลากระป๋องส่งออก ที่เมือง Peniche และ Indorama ลงทุนในโรงงานผลิตสารเคมีสำหรับการผลิตขวด PET และบรรจุภัณฑ์
โดยล่าสุด เมื่อปี 2565 บริษัท SCGC ได้เข้ามาลงทุนซื้อโรงงานรีไซเคิลพลาสติก Sirplaste ณ เมืองไลเรีย เอสซีจีซีซื้อหุ้นกว่าร้อยละ 70 ของบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ขณะที่อีกร้อยละ 30 ยังคงถือหุ้นโดยเจ้าของเดิมซึ่งเป็นผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส การลงทุนนี้ของ SCGC ตอบโจทย์การปรับตัวสู่ “ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อน 4 re ของ SCGc คือ reuse renew recycle recyclable ที่ตั้งเป้าจะผลิตสินค้า เอสซีจีซี กรีน พอลิเมอร์ ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 โดยปัจจุบัน Sirplaste ดำเนินการครบวงจรตั้งแต่รับขยะพลาสติก คัดแยก แปรรูป ผลิตกลับสู่วงจรพลาสติกใหม่ ไปจนถึงการหาตลาด ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลของโปรตุเกสผสานกับความเชี่ยวชาญด้านพลาสติกเคมีของไทย สินค้าหลักที่ผลิตปัจจุบันคือสินค้าในอุตสาหกรรมเกษตร แต่มีแผนขยายธุรกิจไปผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น สอดรับกับความต้องการที่เกิดจากกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านร้านค้าปลีกสินค้าอาหารของโปรตุเกสที่สำคัญ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มร้านค้าปลีกสัญชาติโปรตุเกสซึ่งครองตลาดรวมกันเกินร้อยละ 50 อาทิ continent และpingo doce (2) เครือต่างชาติครองตลาดร้อยละ 30-40 อาทิ Intermarché Lidl Aldi Auchan Mercadona Dia (3) ส่วนที่เหลือยังคงเป็นตลาดของผู้เล่นท้องถิ่นรายย่อย ร้อยละ 10-20 ซึ่งนับว่ายังคงมีบทบาทมากเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการค้าทั่วโลกปัจจุบัน
โดยในร้าน continent ร้าน pingo doce และร้าน mini preco ที่ย่านท่องเที่ยวกลางเมืองมีสินค้าไทยแท้ที่ระบุว่า origin from Thailand คือ กะทิกระป๋อง กับ ข้าว ที่ไม่มีแบรนด์ แต่อย่างไรก็ตาม พบสินค้าที่เขียนว่า “ไทย” หรือเป็นสินค้าที่คล้ายมาจากไทย แต่เป็น house brand อยู่หลายสินค้า เช่น ข้าว “THAI” บะหมี่สำเร็จรูปรส “Chicken Thai” นอกจากนี้ พบว่าในตลาดซุปเปอร์มาร์เกตโปรตุเกส มีโซนอาหาร World Food ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดกว้างและคุ้นเคยกับสินค้าอาหารต่างชาติ โดยสินค้าในโซนนี้ ได้แก่ ผลไม้แห้ง ซอส ข้าว บะหมี่สำเร็จรูป
ในส่วนของแหล่งสินค้าอาหารและวัตถุดิบอาหารไทย สามารถหาซื้อได้จากร้านซุปเปอร์มาร์เกตเอเชีย ในเมืองใหญ่ สินค้ามีจำนวนมาก อาทิ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องปรุงรส ซอส ผลไม้กระป๋อง อาหารแช่แข็ง ผลไม้แช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กะทิ น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ขนมและขนมขบเคี้ยว โดยเจ้าของร้านเหล่านี้เป็นชาวจีน ส่วนมากนำเข้าผ่านเนเธอร์แลนด์ มีบางส่วนนำเข้าโดยตรงมายังโปรตุเกสแต่เป็นส่วนน้อย
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สคต. ณ กรุงมาดริด เห็นว่าโปรตุเกส เป็นตลาดใหม่และตลาดรองที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าและบริการไทยด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมานาน 500 ปี ทัศนคติที่ดีต่อกัน ประกอบกับโครงสร้างผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันนี้มีความหลากหลายมากขึ้นมาก พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ชอบทดลองและซื้อตาม อีกทั้งยังมี asian community ในภาคเกษตรและภาคบริการ เช่น ไทย เนปาล มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาใช้เวลาในโปรตุเกสแบบ long stay จึงสามารถเจาะที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ กลุ่ม expat / digital nomads นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก กลุ่มเล่นกีฬาที่โปรตุเกส เช่น surfing golfing football ฯลฯ โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าอาหาร ready to eat ไทย สำหรับคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว ที่มาระยะยาวหรืออยู่แบบ apartment สินค้า vegan ตามเทรนด์ที่เติบโต สินค้าที่เกี่ยวกับ health and wellness เนื่องจากชาวต่างชาติที่ย้ายมาอยู่โปรตุเกสมีความใส่ใจสุขภาพ พร้อมใช้จ่าย สินค้าเกี่ยวกับกีฬา ไม่ว่าจะ อาหาร เครื่องดื่มพลังงาน ชุด อุปกรณ์ ฯลฯ เนื่องจากชาวโปรตุเกสรักการออกกำลัง และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านกีฬาที่คนนิยม (มี surf คลื่นยักษ์ที่สูงที่สุดในโลกอยู่เมือง Nazare) กีฬามวยไทยและที่เกี่ยวเนื่อง เพราะมีฐานผู้ชื่นชอบอยู่มาก มีสมาคมมวยไทยที่ได้รางวัลระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดสำหรับภาพยนตร์ไทย แนวสยองขวัญ เช่นเดียวกับวิถีพุทธ วิถีสงบ หรือสินค้าที่มีนวัตกรรม สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปในตลาด อย่างไรก็ตาม สคต. จะเร่งศึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบ ช่องทาง และปัญหาอุปสรรคการนำเข้าสินค้าไทยมายังโปรตุเกสโดยละเอียดต่อไป
马德里国际贸易促进办公室
28 พฤศจิกายน 2566