จากสถิติของกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีของไต้หวันมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 17.5 คาดว่าภายในเวลา 2 ปี ตัวเลขนี้จะสูงกว่าร้อยละ 20 ทำให้ไต้หวันก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ความต้องการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

จากการเปิดเผยของ PricewaterhouseCoopers (PwC) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก ชี้ว่า หลังจากที่ในปี 2561 ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้เปิดให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถือหุ้นในสถานดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันได้สูงสุดร้อยละ 99 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นปี 2565 มีสถานประกอบการที่จดทะเบียนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันแล้วรวม 195 ราย ซึ่งถึงแม้ว่าตามกฎหมายแล้ว สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันจะสามารถนำผลกำไรไปใช้ได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 70 อย่างไรก็ดี PwC เห็นว่า ข้อกำหนดนี้มิได้ส่งผลต่อความสนใจของเหล่าสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุที่จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวันแต่อย่างใด โดยตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา เริ่มมีสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวันแล้ว ได้แก่ Qingsong Health Co.Ltd. ซึ่งมีสถานดูแลผู้สูงอายุแบบพำนักระยะยาว 7 แห่งทั่วไต้หวัน และกำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้ง 14 แห่ง และ Taiwan Home Nursing ซึ่งมีการให้บริการในแบบพำนักระยะยาว แบบส่งพนักงานไปดูแลที่บ้านของผู้สูงอายุ และแบบ Day Care โดยมีการให้บริการมากเกือบ 2,000 Case ทางตอนเหนือของไต้หวัน ในขณะที่กลุ่ม Ten Chen Medical Group ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 3 แห่งก็เห็นโอกาสในตลาดดูแลผู้สูงอายุ จึงจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุแบบพำนักระยะยาว 4 แห่ง และศูนย์ Day Care จำนวน 6 แห่งตามเมืองใหญ่ทั่วไต้หวัน โดยในปีหน้า ทางกลุ่มฯ มีแผนขยายบริการของสถานดูแลแบบพำนักระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1,000 เตียงซึ่งทางผู้บริหารของ Ten Chen ก็ชี้ว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มฯ อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน คาดว่าจะทำการยื่นขอในปีหน้า ด้านกลุ่ม Excelsior Healthcare Group ซึ่งมีสถานดูแลผู้สูงอายในสังกัดมากกว่า 10 แห่ง รวมมากว่า 3,000 เตียง ก็กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอเข้าจดทะเบียนในปีหน้านี้เช่นเดียวกัน

โดย นักวิเคราะห์ของ PwC เห็นว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของไต้หวัน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม โดยที่ผ่านมา ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการที่เน้นการให้บริการเพื่อสังคมและไม่เน้นการสร้างผลกำไร การที่รัฐบาลไต้หวันเปิดโอกาสให้สามารถนำผลกำไรไปใช้งานในด้านอื่นได้ แม้จะมีการกำหนดเพดานสูงสุดไว้ หากแต่ก็ยังถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจ ดังนั้น การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหล่าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ที่มา : United Daily News / Economic Daily News (October 11, 2023)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

จากการประมาณการของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute) ชี้ว่า มูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของไต้หวันจะสูงถึงเกือบ 4 ล้านล้านบาท โดยถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย ข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์เสริมสำหรับอำนวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน  เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สถานดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นบริการเพื่อสังคม ไปสู่การเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว ก็ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการสถานดูแลฯ ของไทย ในการสร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลระหว่างกัน หรือเข้าลงทุนในไต้หวันได้เช่นกัน เพราะตามกฎหมายของไต้หวัน ได้อนุญาตให้ทุนต่างชาติเข้าลงทุนเปิดบริษัทในไต้หวันในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงได้ โดยสามารถถือครองหุ้นได้สูงสุด 100% ด้วย

zh_CNChinese