- สถิติการขยายตัวของจุดชาร์จไฟฟ้าและข้อมูลด้านการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในอิตาลี เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้ขับขี่รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า (BEV) แต่ยังห่างไกลจากระดับส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ทั้งหมด ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอิตาลียังสามารถเติบโตได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนที่จูงใจในการซื้อสำหรับบุคคลทั่วไปและบริษัทที่ซื้อรถเชิงพาณิชย์ ด้วยนโยบายการอัดฉีดโบนัสส่วนลดของรัฐบาล และการทำงานอย่างระมัดระวังของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงจะทำให้อิตาลีสามารถลดระยะห่างกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป และให้เข้าถึงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งไว้ประมาณ 6.5% ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.7%
- การตัดสินใจของสหภาพยุโรปที่จะยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี 2578 ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรปมีแนวโน้มในการปรับตัว 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรกทำให้เกิดการลดลงของการใช้รถส่วนตัวในใจกลางเมือง เนื่องจากรถใช้น้ำมันต้องเสียอากรแต่ละครั้งในการเข้าเขตตัวเมืองชั้นใน และไม่ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะที่จอดรถ และทัศนคติการครอบครองรถด้วยรูปแบบการเช่าทั้งระยะยาวและสั้นแทนการซื้อรถส่วนตัว เนื่องจากไม่มั่นใจในกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ในยุโรป ซึ่งหลังจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เกิดความขาดแคลนส่วนประกอบต่างๆ (เช่น ไมโครชิป สายไฟฟ้า) อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง (ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป การผลิตเริ่มลดลงอย่างชัดเจน)
- การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในอิตาลี ปีที่ผ่านๆมาจนถึง 30 เมษายน 2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 187,455 คัน เดือนเมษายน 2566 รถยนต์ไฟฟ้า มียอดจดทะเบียนจำนวน 3,988 คัน เพิ่มขึ้น +31.53% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 (ที่มีจำนวน 3,032 คัน) ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3.16% จาก 3.10% ในเดือนเมษายน 2565 ของรถยนต์ทั้งหมด
- ส่วนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 20,360 คัน เพิ่มขึ้น +42.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-เมษายนปี 2565 (ที่มีจำนวน 14,326 คัน) มีส่วนแบ่งตลาด 3.67% ของรถยนต์ทั้งหมด
- ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 อิตาลีนำเข้ายานพาหนะและส่วนประกอบจากทั่วโลกมีมูลค่า 5,428.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -25.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 (ที่มีมูลค่า 7,311.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอิตาลีส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบมีมูลค่า 5,345.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -24.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 (ที่มีมูลค่า 7,118.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
- ในปี 2565 การส่งออกยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปอิตาลี มีมูลค่ารวม 144.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -20.90% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีมูลค่า 182.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่า 35.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -4.95% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 37.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็น สคต.มิลาน
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตลาดที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังมีความต้องการของตลาดสูง ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
1. จากระยะเวลานี้เป็นต้นไป เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการเผยแพร่รถยนต์ไฟฟ้าในตลาด การเปลี่ยนแปลงจึงมีมากและรวดเร็วในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพดียิ่งๆขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพตามการเปลี่ยนแปลง และได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด
2. การศึกษาข้อกำหนดด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบของการผลิตและจำหน่ายที่อิตาลีก็ใช้กฎระเบียบเดียวกันกับประเทศอื่นในสหภาพยุโรป ที่ผู้ประกอบการไทยควรหาคู่ค้าอิตาลีที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกัน ในการร่วมประกอบธุรกิจในรูปแบบต่างๆ การเข้าตลาดอิตาลีได้ หมายถึง การขยายตลาดไปทั่วยุโรป และส่วนอื่นๆของโลก
3. การศึกษาแนวโน้ม ความต้องการของผู้บริโภค คู่แข่งตลาด และกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อให้เข้าใจในทิศทางสินค้าและสามารถนำไปพัฒนาการผลิตสินค้าตรงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตลาด รวมถึงการวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถผลักดันจุดขายและตอบสนองความต้องการได้ตรงตามพฤติกรรมของผู้บริโภค
4. การพัฒนาสินค้าอิงนิเวศน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวความยั่งยืน ซึ่งต่อจากนี้ไป รถไฟฟ้าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกี่ยวโยงกับการปล่อยมลพิษทางอากาศโดยตรง ซึ่งรถที่ใช้น้ำมันจะค่อยๆลดลงจากตลาด จึงจำเป็นต้องรู้จักข้อกำหนดของส่วนประกอบต่างๆที่ตลาดยุโรปอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้ สินค้าจึงต้องตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสำคัญ
5. พัฒนาสินค้าที่เป็นจุดแข็งของไทย ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เช่น แบ๊ตเตอรี่ สายไฟฟ้า เบาะรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในด้านวัสดุที่นำมาผลิต
6. ควรร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ ที่มีที่ตั้งและการลงทุนในไทย มองหาความร่วมมือในการผลิต เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการเจาะตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากตลาดรถยนต์เป็นตลาดที่ผูกขาดสำหรับเครือข่ายใหญ่ๆ และเป็นการจำหน่ายสินค้าด้วยแบรนด์
7. ศึกษาปัญหาและอุปสรรคสำหรับการส่งออกมายังยุโรปอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ใบอนุญาตการนำเข้าในสหภาพยุโรป โดยขอความร่วมมือจากผู้นำเข้า
8. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในอิตาลี ซึ่งเป็นจุดนัดพบทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศอิตาลีและจากต่างประเทศ และเป็นที่พบปะนักธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการอัพเดทแนวโน้มสินค้าและตลาดที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค