- ภาพรวมตลาดในสิงคโปร์
ในปี 2567 ปริมาณการขายปลีกของสินค้าผักและผลไม้แปรรูปเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับการบริโภคผักและผลไม้สดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายปลีกในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้แปรรูปมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากการเพิ่มของตัวเลือกสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกเหนือจากสินค้าแบบเดิม ๆ เช่น ถั่วลันเตา ข้าวโพด และแครอท สินค้าในกลุ่มผักแปรรูปแช่แข็งมีหลากหลายชนิดขึ้น เช่น ผักโขม มะเขือเทศ กะหล่ำดาว และเห็ด เป็นต้น การขยายตัวของช่องทางการขายออนไลน์ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตนี้ โดยเสนอสินค้าที่มีความหลากหลายมากกว่าช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมโดยมีแบรนด์หลัก เช่น Wattie’s และสินค้าภายใต้ Private Label ของซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น FairPrice และ Meadow
อาหารที่เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิห้อง (Shelf-stable food) กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยมีคู่แข่งทั้งกลุ่มผักและผลไม้แปรรูปแช่แข็ง ที่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองว่าสดกว่าและดีต่อสุขภาพกว่า และกลุ่มสินค้าผักดองของจีน ซึ่งอยู่ในกระแส “มาล่าเสฉวน” ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ กระแสนิยม “มาล่าเสฉวน” เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในสิงคโปร์ที่เริ่มนำอาหารเหล่านี้มาทำเองที่บ้าน หรือใช้เป็นส่วนผสมในมื้ออาหาร ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้กับผักที่เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิห้อง ซึ่งมักวางจำหน่ายใกล้กับกลุ่มสินค้าผักดองของจีนในชั้นจำหน่ายของผู้ค้าปลีก การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ดองเหล่านี้ทำให้ตลาดผักที่เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิห้องในสิงคโปร์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หมวดอาหารที่เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิห้อง ถือว่าเติบโตเต็มที่ในตลาดแล้ว และมีนวัตกรรมด้านรสชาติหรือรูปแบบที่ยังจำกัด ซึ่งเป็นความท้าทายในการดึงดูดผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดที่ดีต่อสุขภาพยังคงโดดเด่น เช่น ถั่วและมะเขือเทศที่เก็บรักษาได้นาน โดยแบรนด์ต่าง ๆ มุ่งเน้นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค เช่น การเป็นออร์แกนิก โซเดียมต่ำ หรือไฟเบอร์สูง ตัวอย่างเช่น ถั่วอบรสจืดของแบรนด์ Ayam ที่ระบุข้อความ “โซเดียมและน้ำตาลต่ำ” ไว้อย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ
ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น คาดว่าผู้บริโภคในสิงคโปร์จะปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเลือกซื้อสินค้าภายใต้ Private Label หรือบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ให้ความคุ้มค่ามากกว่า ตัวอย่างเช่น ถั่วอบในซอสมะเขือเทศของซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ขายปลีกในราคา 1.60 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 420 กรัม ซึ่งคุ้มค่ากว่าถั่วอบในซอสมะเขือเทศของแบรนด์ Heinz ที่ขายปลีกในราคา 1.85 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 220 กรัม และแบรนด์ Ayam ที่ขายปลีกในราคา 1.20 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 230 กรัม นอกจากนี้ สินค้าภายใต้ Private Label ของ ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ยังขยายข้อเสนอในกลุ่มผลไม้และผักที่เก็บได้นาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ผู้บริโภคบางส่วนในสิงคโปร์ยินดีที่จะเปลี่ยนมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกลง เนื่องจากคาดหวังว่ารสชาติจะใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดัง ในขณะเดียวกัน โปรโมชั่นจากผู้ค้าปลีกยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ถั่วลิสงตุ๋นแบรนด์ Narcissus มีราคาขายปลีกที่หน่วยละ 0.85 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่เมื่อซื้อสี่กระป๋องพร้อมกัน ราคาจะลดลงเหลือเพียง 3 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคที่มองหาความคุ้มค่า
2. โอกาสทางการตลาด
Euromonitor คาดว่า ตลาดสินค้าผลไม้และผักแปรรูปจะมีศักยภาพในการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากตลาดมีการพัฒนาเต็มที่และความสนใจของผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ได้นานลดลง ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมักหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยมองว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่านอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากส่วนประกอบในอาหารแปรรูป เช่น ปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมันที่สูง รวมถึงสารเติมแต่งเทียมอย่างสารกันบูด สี แต่งกลิ่นรส และสารให้ความหวาน ได้เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาทางเลือกที่สดใหม่และมีคุณค่าทางโภชนาการมากยิ่งขึ้น
ยอดขายปลีกของผลไม้และผักที่เก็บไว้ได้นานมีแนวโน้มซบเซา แม้ว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะยังคงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีวิถีชีวิตยุ่งวุ่นวาย ด้วยคุณสมบัติที่สะดวกในการใช้งาน ใช้เวลาเตรียมน้อย และมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน ซึ่งช่วยลดความถี่ในการซื้อของ
ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เช่น Cold Storage และ NTUC FairPrice ได้ปรับพื้นที่บนชั้นวางสินค้าโดยเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มักมีราคาสูงกว่า ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกสามารถเพิ่มกำไรได้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่สำหรับสินค้ากลุ่มผลไม้และผักที่เก็บไว้ได้นานลดลง เนื่องจากกระแสรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผักผลไม้สดมากกว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
แม้กระแสรักสุขภาพจะส่งผลกระทบต่อสินค้ากลุ่มนี้ แต่ความสะดวกสบายยังคงทำให้ผลไม้และผักแปรรูปเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการปรุงอาหารในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ เพราะจะช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมหรือปรุงอาหารน้อยลง เช่น ผักรวมแช่เย็นที่ล้างและหั่นเรียบร้อย หรือผักแปรรูปปรุงสำเร็จ ซึ่งมีมูลค่าเฉพาะตัวที่สูงขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น Mili’s Vegetarian Lo Han Zhai, Companion’s Oriental Assorted Delights และ FairPrice’s Lo Han Chai ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาและลดความไม่สะดวกในการซื้อส่วนผสมแต่ละรายการ โดยมักประกอบด้วยเห็ด หน่อไม้ แครอท เต้าหู้ทอด และข้าวโพด โดยเมนูเหล่านี้ Lo Han Zhai หรือ Buddha’s Delight เป็นที่นิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีข้อได้เปรียบในการช่วยลดขยะอาหาร ด้วยอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานและความสามารถในการควบคุมปริมาณการบริโภค
โครงสร้างประชากรของสิงคโปร์ที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อยอดขายผักและผลไม้แปรรูปอย่างชัดเจน ผู้บริโภคอายุน้อยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นและเลือกบริโภคผลไม้และผักสดแทนที่จะเลือกสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแบบผู้บริโภครุ่นเก่า พวกเขามองว่าสินค้ากลุ่มนี้ไม่ดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะมีทางเลือกที่ดีขึ้น เช่น สินค้าโซเดียมต่ำหรือไม่มีน้ำตาล ในขณะเดียวกัน การขาดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในตลาดที่เติบโตเต็มที่แล้ว เช่น ถั่วอบกระป๋อง ยิ่งทำให้ความต้องการชะลอตัวลง แบรนด์ต่าง ๆ จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์โอกาสการบริโภคที่หลากหลาย พร้อมนำเสนอรสชาติที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น
3. ส่วนแบ่งทางการตลาด
ในปี 2567 แบรนด์อาหารกระป๋อง Mili ส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 13.2% และแบรนด์ Farmland อยู่ที่ 12.8% ตามมาด้วยแบรนด์ Hosen อยู่ที่ 11.1% และแบรนด์ FairPrice อยู่ที่ 9.4%
4. กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า
ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ได้ที่ www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
5. งานแสดงสินค้า
งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ได้แก่ Food&HotelAsia (FHA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://fhafnb.com/
6. ช่องทางในการกระจายสินค้า
สิงคโปร์มีช่องทางค้าปลีกที่หลากหลาย รองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ช่องทางการขายแบบดั้งเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เช่น ร้านสินค้าสุขภาพหรือไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ ช่องทางค้าปลีกออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยมีแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Lazada, Shopee และ Amazon Singapore ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและพฤติกรรมการซื้อของในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของรายชื่อผู้นำเข้า หรือช่องทางการขายที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อได้ที่ enquiry@thaitrade.sg
ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.
ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นจากสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ดังนั้น ผู้ผลิตควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การลดเกลือ หรือสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ และไม่มีสารกันบูด และควรมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์มีการคำนึงถึงความคุ้มค่าทางราคาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
ที่มาข้อมูล : Euromonitor