เศรษฐกิจสิงคโปร์เผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

เศรษฐกิจสิงคโปร์เผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 นาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า มาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในวงกว้างของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีนำเข้าพื้นฐานในอัตรา 10% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าของสิงคโปร์นั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนซึ่งจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายในอนาคต ขณะนี้ รัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการทบทวนและประเมินคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2568 อีกครั้ง และพร้อมให้การสนับสนุนทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีข้อมูลบางประการที่ยังไม่ครบถ้วน รัฐบาลจึงต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนอย่างรอบคอบ เพื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหรือไม่

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี Gan ยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า สิงคโปร์รู้สึกผิดหวังต่อการดำเนินมาตรการของสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน และได้ลงนามในความ
ตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน ในประเด็นนี้ สิงคโปร์จะประสานงานกับสหรัฐฯ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีศุลกากร และเพื่อชี้แจงหรือแก้ไขความเข้าใจผิดใดๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10%

ภายใต้กรอบของ FTA รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีช่องทางในการยื่นคำร้องและสามารถดำเนินมาตรการตอบโต้ รวมถึงการหาทางออกเพื่อแก้ไขข้อพิพาทได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตัดสินใจที่จะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ในขณะนี้ เนื่องจากการกำหนดภาษีนำเข้าตอบโต้จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจของสิงคโปร์โดยตรง ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ถือเป็น FTA ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงนี้ โดยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถส่งสินค้าเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร อีกทั้งยังมีดุลการค้าบวกกับสิงคโปร์ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนที่จะกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ สิงคโปร์ยังคงยืนยันที่จะดำเนินความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดสอดคล้องกันทั่วโลก เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์การการค้าโลก (WTO)

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย Lawrence Wong ได้กล่าวในการประชุมรัฐสภาว่า หากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยสิงคโปร์ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

นายกรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ภาษีศุลกากรดังกล่าวมีผลกระทบในวงกว้าง 3 ประการต่อระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก

  1. ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ถือเป็นการปฏิเสธกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก

ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิเสธต่อกฎเกณฑ์และหลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการ “ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์สูงสุด” (Most Favoured Nation: MFN) ซึ่งเป็นเสาหลักของระบบการค้าพหุภาคี โดยหลักการดังกล่าวกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม กล่าวคือ หากประเทศหนึ่งให้สิทธิพิเศษหรือกำหนดข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใด ประเทศนั้นจะต้องขยายการปฏิบัติดังกล่าวไปยังประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพิจารณาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการ MFN อย่างชัดเจน

แม้หลักการ MFN จะมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements) แต่หลักการดังกล่าวถือเป็นรากฐานของระบบการค้าพหุภาคีมาอย่างยาวนาน หากประเทศอื่น ๆ ใช้นโยบายในแนวทางเดียวกันกับสหรัฐฯ ระบบการค้าตามกฎเกณฑ์ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันมากยิ่งขึ้น

  1. ความเป็นไปได้ของสงครามการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

การปรับขึ้นภาษีครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในปี 2473 เมื่อสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษี Smoot-Hawley ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีศุลกากรในวงกว้าง ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ แสดงความไม่พอใจและตอบโต้ด้วยการออกมาตรการจำกัดทางการค้าและการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีส่วนทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) รุนแรงและยืดเยื้อยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในระดับที่สูงกว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ดังนั้น ความไม่แน่นอนหรือการหยุดชะงักของกระแสการค้าจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในอดีตยังมีตัวอย่างจากปี 2514 เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในอัตรา 10% เพื่อกดดันให้ประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นลดค่าเงินลง ซึ่งเมื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จ ภาษีดังกล่าวก็ถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันบางประเทศจะสามารถเจรจาขอผ่อนผันหรือได้รับการยกเว้นจากอัตราภาษีศุลกากรใหม่ก่อนมีผลบังคับใช้ และมีความเป็นไปได้ที่บางส่วนของภาษีจะลดลงในอนาคต แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีการเพิ่มอุปสรรคทางการค้า มาตรการเหล่านี้ก็มักจะคงอยู่ต่อเนื่อง และยากที่จะย้อนกลับสู่สถานะเดิมได้อย่างสมบูรณ์

ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรงเช่นนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นักลงทุน และรัฐบาลทั่วโลก การฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบการค้าโลกภายหลังจากความผันผวนจึงเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง

อัตราภาษีศุลกากรขั้นพื้นฐานที่10% ซึ่งเสนอโดยสหรัฐอเมริกานั้น ดูเหมือนจะไม่เปิดให้มีการเจรจาต่อรองแต่อย่างใด โดยชี้ว่าอัตราดังกล่าวน่าจะเป็นอัตราขั้นต่ำแบบคงที่ที่ต้องบังคับใช้ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไร หรือมีข้อตกลงทางการค้าอยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลง

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนสู่ทัศนคติ “ฉันมาก่อน” และการแข่งขันแบบแพ้-ชนะ

มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของกระแสชาตินิยมทางการค้าและการปกป้องผลประโยชน์ในระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นยุคแห่งการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ประเทศต่าง ๆ เริ่มหันหลังให้กับความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งขึ้น ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของทัศนคติแบบ ‘ฉันมาก่อน’ และการแข่งขันในลักษณะชนะ-แพ้ ซึ่งแต่ละประเทศต่างแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง บางประเทศถึงกับพร้อมใช้วิธีการที่แข็งกร้าวหรือบีบบังคับ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดกับผู้อื่น ขณะเดียวกัน สถาบันระหว่างประเทศที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือกำลังอ่อนแอลง และหลักปฏิบัติร่วมที่เคยยึดถือกันมาอย่างยาวนานก็เริ่มถูกละเมิดและสั่นคลอน

ผลจากการประกาศมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การชะลอตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในระยะถัดไป ภายหลังการประกาศมาตรการภาษีดังกล่าว หน่วยงานเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้เร่งติดต่อกับทั้งบรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจในประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบ นายกรัฐมนตรีเผยว่า แม้บริษัทบางแห่งจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีดังกล่าว แต่ก็ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการของลูกค้าที่อาจลดลง และหลายบริษัทได้ตัดสินใจชะลอโครงการใหม่ ๆ ไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ ทั้งนี้ ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องเตรียมพร้อมทั้งทางจิตใจและการปรับตัวให้ทันกับยุคใหม่ ซึ่งระเบียบโลกแบบเดิมที่มีความแน่นอนและยึดหลักกฎเกณฑ์กำลังเลือนหายไป

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ตลอดทั้งปี 2568 ไว้ที่ 1-3% ซึ่งถือว่าลดลงจากการเติบโต 4.4% ในปี 2567  แม้ว่านโยบายคุ้มครองการค้าของสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจโลก แต่ผลกระทบในระยะสั้นที่เริ่มเห็นได้คือ ธุรกิจและผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอแผนการใช้จ่ายและการลงทุนจนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินส่งผลให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวน นอกจากนี้ ผลสำรวจหลายฉบับระบุว่า ธุรกิจในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะชะลอแผนการจ้างงานและการลงทุน

สัญญาณการหดตัวทางเศรษฐกิจ

     รายงานประจำเดือนของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board: EDB) ระบุว่า ภาคการผลิตของประเทศมีผลผลิตลดลง 1.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งสวนทางกับการเติบโต 8% ในเดือนมกราคม นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 และเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ฐานเปรียบเทียบของปีที่ผ่านมาจากเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567[1] ควรเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการผลิตมีเสถียรภาพมากขึ้น

     การชะลอตัวดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับภาคการขนส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของสิงคโปร์ โดยอัตราการเติบโตในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือ 6.9% จาก 9.5% ในเดือนมกราคม ขณะที่การเติบโตรวมของภาคอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 อยู่ที่ 2.3% ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากอัตรา 6.1% ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567

แรงกดดันต่อภาคการผลิตและการส่งออกของสิงคโปร์ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดย PMI ภาคการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาอยู่ที่ 50.7 จุด จากระดับ 50.9 จุดในเดือนมกราคม ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้สะท้อนถึงความอ่อนแอของคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออกใหม่ ซึ่งแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงต่อภาคเซมิคอนดักเตอร์และเภสัชกรรม

     นักวิเคราะห์เตือนว่า หากสหรัฐฯ กำหนดมาตรการภาษีศุลกากร สิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอย่างเซมิคอนดักเตอร์และเภสัชกรรม ทั้งนี้ ภาคเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็น ประมาณ 30% ของการส่งออกประจำปีของสิงคโปร์ ขณะที่ภาคเภสัชกรรมคิดเป็น 8.3% หากสหรัฐฯ กำหนดภาษีศุลกากรในอุตสาหกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ในตลาดโลก

แนวโน้มการผ่อนปรนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ (The Monetary Authority of Singapore : MAS)

     ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรต่ออัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 ได้สร้างแรงสนับสนุนให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) อาจดำเนินมาตรการผ่อนปรนนโยบายการเงินอีกครั้ง หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราการแข็งค่าของสกุลเงินไปแล้วในเดือนมกราคม MAS ใช้มาตรการมูลค่าตามน้ำหนักการค้าของเงินเหรียญสิงคโปร์ (Trade-weighted value of the Singapore dollar) เพื่อจัดการเงินเฟ้อ โดยได้ลดอัตราการแข็งค่าของสกุลเงินในเดือนมกราคม หลังจากอัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมค่าขนส่งและที่พักอาศัย ลดลงเหลือ 0.6% จาก 0.8% ในเดือนมกราคม ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2566 ที่ 5.6%

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

     นโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญสิงคโปร์อาจต้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าในระดับภูมิภาคและขยายโอกาสการลงทุนภายในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ โดยมีอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 37% การลดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มการนำเข้าสินค้า ตลอดจนการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุน จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางแนวโน้มของสงครามการค้าที่อาจดำเนินต่อไปในระยะยาว

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/world/united-states/trump-announces-reciprocal-tariffs-as-he-ratchets-up-trade-war

https://www.straitstimes.com/world/united-states/trumps-kind-tariffs-harshest-burden-falls-on-asia

https://www.straitstimes.com/business/singapore-shows-signs-of-slowdown-ahead-of-trumps-biggest-round-of-tariffs-on-april-2

https://www.straitstimes.com/business/singapore-disappointed-with-tariffs-will-engage-us-to-clarify-calculations-dpm-gan

https://www.straitstimes.com/business/singapore-seen-spared-from-worst-case-scenario-on-tariffs-but-may-be-hit-from-global-trade-slowdown

https://www.straitstimes.com/singapore/politics/world-suffers-if-us-china-relations-fray-with-tariffs-pm-wong

https://www.straitstimes.com/singapore/politics/pm-wong-on-3-implications-us-tariffs-have-on-global-trading-system

[1] วันหยุดตรุษจีนหมายถึงวันทำการในเดือนนั้นๆ น้อยลง ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฐานของเดือนที่สอดคล้องกันในปีถัดไปลดลง

thThai