สืบเนื่องจากการที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้สามารถปล่อยข้าวสำรองที่รัฐบาลถือครองออกมาได้ แบบไม่จำกัดเฉพาะกรณีฉุกเฉินการขาดแคลนผลผลิตเท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากการที่สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ (JA) ได้ร้องเรียนว่าไม่สามารถจัดหาข้าวได้ แต่การปล่อยข้าวสำรองในครั้งนี้ถือเป็นการรักษาตามอาการมากกว่า แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลยังคงดำเนินการปรับสมดุลการผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์และอุปทานสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนที่มีอยู่ (หมายเหตุ: JA (Japan Agricultural Cooperatives) หรือสหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ คือสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเกษตรกร โดยให้บริการด้านการเงิน, วัสดุ, อุปกรณ์, เมล็ดพันธุ์, การซื้อขายสินค้า ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไป เกษตรกรในญี่ปุ่นจะขายผลผลิตออกสู่ท้องตลาดโดยผ่าน JA)

 

รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ JA ขายข้าวสำรองให้กับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลจะซื้อคืนในช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนรายละเอียด“ญี่ปุ่นปล่อยข้าวสำรองเป็นการรักษาตามอาการ”จะได้รับการสรุปในภายหลัง จุดมุ่งหมายของการประกาศปล่อยข้าวสำรองคือการควบคุมการขึ้นของราคา ขณะนี้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงกล่าวว่า จะตัดสินใจว่าจะปล่อยข้าวสำรองหรือไม่หลังจากติดตามแนวโน้มตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดขณะนี้มีการติดตามดูท่าทีว่าจะมีการปล่อยข้าวสำรองหรือไม่ และราคาซื้อขายข้าวยังคงอยู่ในระดับสูง

     ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม 2567 ข้าวเริ่มขาดแคลนในตลาดและรัฐบาลได้ปฏิเสธการปล่อยข้าวสำรอง โดยอ้างว่าเมื่อข้าวใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาด การขาดแคลนจะได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายเอะโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ได้เปลี่ยนท่าทีและกล่าวว่า “รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องจัดหาข้าวในปริมาณที่เหมาะสมให้แก่ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ” พร้อมทั้งกล่าวถึงการทบทวนการใช้ข้าวสำรอง

สาเหตุของสถานการณ์นี้เกิดจากการที่สหกรณ์เกษตรแห่งชาติไม่สามารถรวบรวมข้าวได้เหมือนเช่นเคย ผู้ค้าส่ง บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารหลายแห่งพยายามหาข้าวจากแหล่งผลิตโดยตรง เพื่อที่จะหาข้าวมาจำหน่าย การแข่งขันในการซื้อข้าวราคาสูงทำให้ราคาข้าวยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก สหกรณ์เกษตรแห่งชาติไม่สามารถรวบรวมข้าวได้ และได้ออกประกาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่าไม่สามารถทำตามคำสัญญาเกี่ยวกับปริมาณข้าวที่ตกลงไว้ได้

การเรียกร้องให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวที่ใช้เป็นอาหารหลักในปริมาณสูงสุด 100,000 ตันต่อปี    โดยราคาทั้งหมดได้รับการประมูลและอัตราการประมูลสูงกว่าปกติประมาณ 3 เท่า หลายบริษัทการค้าและผู้ค้าส่งพยายามที่จะนำเข้าข้าวแม้จะต้องจ่ายภาษีศุลกากรสูงก็ตาม ผู้ค้าส่งข้าวรายใหญ่กล่าวว่า “การนำเข้าข้าวในภาคเอกชนไม่เคยเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาก่อน”

ในปี 2547 เมื่อการกระจายข้าวถูกเปิดเสรีเกือบทั้งหมด ส่วนแบ่งของสหกรณ์เกษตรแห่งชาติในการผลิตข้าวทั้งหมดอยู่ที่ 45% แต่ในปี 2565 ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือ 39% ในขณะที่สัดส่วนของการขายข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ผู้ค้าส่ง และร้านอาหารเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 32% และในปัจจุบันคาดว่าสัดส่วนนี้จะสูงขึ้นไปอีก แม้ว่าจะมีการปล่อยข้าวสำรองจากสหกรณ์เกษตรแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวมากน้อยเพียงใด

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2567 ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวญี่ปุ่น ทำให้ความต้องการข้าวพันธุ์เมล็ดสั้นจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติ ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวสำหรับเป็นอาหารหลักผ่านระบบ SBS โดยการจ่ายมาร์คอัพให้กับรัฐบาลเพื่อให้ได้การยกเว้นภาษีศุลกากร ระบบ SBS เป็นการประมูล และยิ่งตั้งมาร์คอัพสูงก็ยิ่งมีโอกาสชนะการประมูลสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของความต้องการในครั้งนี้ทำให้การแข่งขันในการประมูลรุนแรงขึ้น ทำให้มาร์คอัพสูงขึ้นและส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าข้าวพันธุ์เมล็ดยาวจากไทยพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถจัดหาปริมาณที่จำเป็นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ข้าวไทยที่ใช้เป็นอาหารหลักในญี่ปุ่นมักจะมีราคาสูงกว่าข้าวพันธุ์เมล็ดสั้น และความต้องการข้าวพันธุ์เมล็ดยาวมีน้อยกว่าข้าวพันธุ์เมล็ดสั้น หากต้นทุนที่สูงขึ้นยังคงดำเนินต่อไป อาจมีความเสี่ยงที่ปริมาณการนำเข้าข้าวไทยไปญี่ปุ่นจะลดลง

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แปลและเรียบเรียงจาก

หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2568

thThai