นายกรัฐมนตรี Mohammed Al Sudani ของอิรักกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในการลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลอิรัก โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณของอิรักสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม จากการรายงานของประเทศสมาชิกโอเปก+ (OPEC+) พบว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา อิรักมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันอยู่ที่ 92 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจอิรักที่ยังคงพึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 รัฐสภาอิรักได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 163 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดการณ์รายได้ของรัฐบาลไว้ที่ 123 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประมาณ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ น้ำมันยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลอิรัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของรายได้ทั้งหมด
ความท้าทายทางการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณ
นาย Nabil Al-Marsoumi ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Basra ประเทศอิรัก ระบุว่า การขาดดุลงบประมาณในปี 2567 มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมี ความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจใช้งบประมาณเกินกว่าที่วางแผนไว้ สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงการคลังของอิรักที่เผยแพร่ในสื่อท้องถิ่น ซึ่งระบุว่ารายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันในช่วง 11 เดือนแรกของปีอยู่ที่ประมาณ 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้รายได้รวมของรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 104.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
หากคาดการณ์ว่ารายได้ในเดือนธันวาคม 2567 จะเพิ่มขึ้นอีก 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รายได้รวมทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 114.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งไว้ในงบประมาณ ส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณรวมทั้งปีอาจ สูงถึง 48.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในช่วงกลางปี 2566 รัฐบาลอิรักได้อนุมัติแผนงบประมาณระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 135 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณในปี 2566 อยู่ที่ 49 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ รัฐสภาได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังสามารถปรับปรุงประมาณการงบประมาณรายปีตามปัจจัยด้านราคาน้ำมันและความต้องการใช้จ่ายของประเทศ
งบประมาณปี 2566 นี้คำนวณจากสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราการผลิตน้ำมัน 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งรวมถึงการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวันจากเขตปกครองเคอร์ดิสถาน อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิรักยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการพึ่งพารายได้จากน้ำมันซึ่งมีความผันผวนสูง โดยนักวิเคราะห์เรียกร้องให้มีการดำเนินนโยบายเพื่อกระจายแหล่งรายได้ตามแบบอย่างประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม GCC
นาย Mohammed Al-Hasani นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิรัก ระบุว่า การพึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลักส่งผลให้อิรักเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังคงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลกที่ขาดเสถียรภาพ เขาเน้นย้ำว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง รวมถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศ
ด้านนาย Mudhhir Mohammed Saleh ที่ปรึกษาด้านการเงินของนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านสำนักข่าว Shafaq ว่าการพึ่งพาน้ำมันเป็นแหล่งรายได้หลักทำให้อิรักต้องพึ่งพาการกู้ยืมทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณ และการแสวงหาแหล่งรายได้ทางเลือกเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
หากอิรักขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก รวมถึงจากไทยในหลายด้าน ดังนี้
- อำนาจซื้อของอิรักลดลง : หากเมื่อรัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากขึ้น อาจจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินให้กับธุรกิจและประชาชน และกำลังซื้อของภาคเอกชนอาจลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือสินค้าราคาแพง
- การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าบางประเภทอาจลดลง: เช่น รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของใช้หรูหรา อาจได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ส่วนสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเวชภัณฑ์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ก็อาจมีการชะลอการนำเข้าหรือเลือกแหล่งนำเข้าที่ราคาถูกลง
- ค่าเงินดีนาร์อิรักอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น : หากขาดดุลงบประมาณรุนแรง อิรักอาจต้องพึ่งพาการกู้ยืมหรือพิมพ์เงินเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินอ่อนตัว อาจาจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น อิรักอาจลดปริมาณการนำเข้า หรือมองหาซัพพลายเออร์ที่เสนอราคาถูกกว่า
- อิรักอาจใช้มาตรการจำกัดการนำเข้า : รัฐบาลอิรักอาจออกนโยบายลดการนำเข้าสินค้าบางประเภทเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศ และอาจเพิ่มภาษีนำเข้า หรือกำหนดโควตาการนำเข้า
ผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย
การค้าระหว่างไทย-อิรัก ปี 2567 รวม 1,167 ล้านเหรียญสหรัฐ (+29.4%) แบ่งออกเป็นการส่งออก มูลค่า 1,163 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+29.1%) การนำเข้ามูลค่า 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3,078 %)
สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอิรัก ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และอะไหล่ยานยนต์ ทั้งนี้ข้าวไทยอาจยังคงได้รับความต้องการสูง เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น แต่หากอิรักมีปัญหาทางการเงิน อาจเลือกนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นที่ราคาถูกลง เช่น อินเดียหรือปากีสถาน ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่อิรักอาจลดการนำเข้าเพื่อประหยัดงบประมาณ ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับอิรักอาจต้องเผชิญกับปัญหาการชำระเงินล่าช้า หรือความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น
โดยรวมแล้ว หากอิรักขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การชะลอหรือการลดลงของการนำเข้าสินค้าหลายประเภท และผู้ส่งออกไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์ เช่น การให้เครดิตการค้าแบบระมัดระวัง
——————————————————–