เนื้อหาสาระข่าวและบทวิเคราะห์: สืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเดินหน้าบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า (Tariff) มายังสหรัฐฯ จากประเทศแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% ซึ่งได้ถูกผ่อนผันมาก่อนหน้านี้จากกำหนดเดิมที่ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามบังคับใช้มาตรการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะสองวันต่อมาจะประกาศผ่อนผันชั่วคราวออกไปเป็นเวลา 30 วัน ภายหลังการผลการพูดคุยหารือกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และผู้นำของแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งรับปากจะช่วยสหรัฐฯจัดการกับปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และปัญหายาเสพติดข้ามชายแดน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมื่อใกล้ถึงวันครบกำหนดผ่อนผัน ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่พึงพอใจในท่าที่ของประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองของสหรัฐฯ นำมาสู่การประกาศยืนยันบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า 25% จากสองประเทศเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป

ข้อเรียกร้องจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร

                   ล่าสุดทางสมาคมร้านอาหารแห่งสหรัฐฯ (National Restaurant Association) ได้ออกจดหมายถึงประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อแสดงท่าทีกังวลผลกระทบต่อธุรกิจและบรรดาผู้ประกอบการกิจการร้านอาหารในสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก โดยระบุให้พิจารณายกเว้นการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นการเฉพาะ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการกิจการร้านอาหาร ซึ่งจะเป็นผลดีไปถึงลูกค้าของร้านอาหาร และทำให้ธุรกิจคงอยู่ได้

ในจดหมายฉบับดังกล่าว Michelle Korsmo ในฐานะ CEO ของสมาคมร้านอาหารฯ ได้ระบุถึงผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม อาจทำให้ธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 1.21 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และอาจทำให้สัดส่วนกำไรของร้านอาหารทั่วไปหายไปไม่น้อยกว่า 30% จากต้นทุนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของร้านอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้นทุนส่วนนี้จะยิ่งเป็นการเพิ่มเติมต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งร้านอาหารต้องรับมือความผันผวนเป็นประจำอยู่แล้ว และเนื่องจากลักษณะธุรกิจร้านอาหารที่มีความแตกต่างจากธุรกิจขนาดเล็กประเภทอื่น กล่าวคือ สัดส่วนกำไรของร้านอาหารก่อนหักภาษีนั้นค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว (ประมาณ 3 – 5%) อีกทั้งยังมีเงินทุนหมุนเวียนโดยเฉลี่ยประมาณแค่ 16 วัน ซึ่งทำให้ธุรกิจร้านอาหารไม่อาจปรับตัวรับมือกับต้นทุนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในระดับหนึ่งและค่อนข้างฉับพลัน

แม้ธุรกิจร้านอาหารจะสามารถปรับราคาอาหารเพื่อที่จะให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนสินค้าอาหารได้แต่เพดานในการปรับราคานั้นค่อนข้างจำกัดเต็มที เนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ต้นทุนสินค้าอาหารปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 35% และต้นทุนค่าจ้างแรงงานก็ปรับตัวสูงขึ้นอีก 36% หมายความว่าร้านอาหารมีการปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้สมดุลกับต้นทุนมาโดยตลอดอยู่แล้ว สวนทางกับกำลังซื้อของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมร้านอาหารฯ เห็นพ้องกับประธานาธิบดีทรัมป์ว่าการแก้ไขการขาดดุลของประเทศนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยืนยันเหตุผลว่ากลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องนั้นมิได้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขาดดุลทางการค้า ในทางตรงข้ามกันนั้น ดุลการค้าของสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในระดับที่เท่า ๆ กัน และเป็นประโยชน์ทางการค้าต่อทั้งสองฝ่าย (Reciprocal) จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้ยกเว้นมาตรการกำแพงภาษี

ไม่เว้นแม้แต่เครือร้านอาหารรายใหญ่อย่าง Chipotle ก็ได้เปิดเผยถึงผลกระทบที่อาจมีต่อต้นทุนสินค้าอาหาร เนื่องจากทางร้านเองก็ได้นำเข้าอโวคาโดที่ใช้ในการประกอบอาหารในร้านมากถึง 50% จากเม็กซิโก และ Shake Shack ก็มีแนวโน้มจะประสบผลกระทบที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ทั้งสองเครือร้านอาหารจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารแหล่งอื่น เพื่อทดแทนและรับมือกับต้นทุนอาหารที่จะปรับสูงขึ้น

ความกังวลในศักยภาพการทดแทนสินค้านำเข้า

                   David Lennarz ประธานฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของบริษัท Registrar Corp. บริษัทซึ่งให้บริการด้านมาตรการ FDA ในการนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลต่อศักยภาพในการทดแทนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่สหรัฐฯในปัจจุบันพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก และอาจรวมถึงจากประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยยกตัวอย่างสินค้าอาหารสด (Fresh Produce) อาทิ ผักและผลไม้หลายชนิด อาทิ อโวคาโค และมะเขือเทศ ซึ่งสหรัฐฯนำเข้าจากเม็กซิโกเป็นหลัก นั้นไม่สามารถที่จะทดแทนด้วยการนำเข้าจากประเทศอื่นได้เพียงพอ และการที่จะหวังพึ่งพาการเพาะปลูกในสหรัฐฯเป็นหลักนั้นก็ยิ่งแล้วใหญ่ เนื่องจากผักและผลไม้หลายชนิดไม่สามารถปลูกได้ในสหรัฐฯในบางฤดูกาล หรือในบางพื้นที่ เช่นเดียวกันสำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรือสัตว์ปีก   แม้ว่าในปัจจุบันสหรัฐฯจะผลิตเนื้อวัวมากถึง 20% ของโลก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับที่จะทดแทนได้อยู่ดี

นอกจากศักยภาพการผลิตในประเทศจะทดแทนได้ยากแล้วนั้น หากแม้ว่าสามารถผลิตในประเทศได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค การที่พึ่งพาแหล่งการผลิตในประเทศอย่างเดียวก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี ซึ่งจะเห็นได้จากสถานการณ์จริงในปัจจุบันที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ในการผลิตไข่ไก่ วิกฤติไข้หวัดนกที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารของสหรัฐฯเป็นทางเลือกดีกว่า

ข้อเสนอแนะ: ด้วยการคาดการณ์ผลกระทบจากแผนการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าแบบครอบคลุมของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อาจส่งผลกระทบเป็นขนานใหญ่และเป็นวงกว้างกับธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯในรูปแบบต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้บริโภคประชาชนทั่วไปในค่าใช้จ่ายในร้านอาหารที่แพงขึ้นตามกัน ข้อเรียกร้องในการยกเว้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มถือว่ามีน้ำหนักอย่างมาก เพราะนอกจากผลกระทบในมุมธุรกิจร้านอาหารที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ยังหมายถึงการบรรเทาค่าครองชีพที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันทั่วไปอีกด้วย

กำแพงภาษีนำเข้าสินค้าดูจะเป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากประธานาธิบดีทรัมป์ แต่หากการยกเว้นกำแพงภาษีนำเข้าให้กับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนั้นสามารถเป็นไปได้จริง ก็อาจถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และจะมีประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยังสหรัฐฯด้วย แม้ว่าในวันนี้สหรัฐฯยังไม่ได้มีการประกาศกำแพงภาษีสินค้าจากประเทศไทย แต่การยกเว้นกำแพงภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Nation’s Restaurant News
เรื่อง: “Policy on the Menu: How Trump’s Tariffs will affect foodservice costs”
โดย: Joanna Fantozzi
สคต. ไมอามี /วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568
thThai