เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลั่นวาจาว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรร้อยละ 25 ต่อสินค้าทุกชนิดและภาษีน้ำมันร้อยละ 10 ที่นำเข้ามาจากแคนาดา โดยได้ลงนามบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 เป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้นำสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งผ่อนผันออกไปอีก 30 วัน เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพิ่มเติมให้ทั้ง 2 ประเทศพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพราะหลังจากการลงนามนั้น ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และกระทบต่อความเป็นอยู่ของพลเมืองทั้งสองฝ่ายในที่สุด

 

โดยมาตรการกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวแคนาดาเป็นจำนวนมาก และมีความรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่ทรัมป์กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการที่ออกมากล่าวอย่างเอาจริงจังที่ว่า จะผนวก“แคนาดา”เป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา และยังบอกอีกว่า หากแคนาดาปราศจากการสนับสนุนของสหรัฐฯ แล้ว ประเทศแคนาดาจะกับเผชิญความเดือดร้อนในการอยู่รอด

 

ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวแคนาดาไม่นานมานี้ ชี้ว่า ชาวแคนาดาคัดค้านต่อแนวคิดการเป็นรัฐที่ 51 ของกับสหรัฐฯ อย่างมาก โดยมีชาวแคนาดาเพียงร้อยละ 13 ที่สนับสนุนข้อเสนอของทรัมป์ ขณะที่กว่าร้อยละ 82 คัดค้านความคิดดังกล่าว อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากความเห็นที่ต่างแล้ว ชาวแคนาดาจำนวนหนึ่งยอมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและจับจ่าย เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อนโยบายการค้าของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้

 

โดยจากข้อมูลบริษัทวิจัยตลาด Abacus ได้ทำการสำรวจชาวแคนาดาจำนวนหนึ่งพบว่า ร้อยละ 42 จะทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงการซื้อสินค้าต่างๆ ที่ผลิตในสหรัฐฯ หรือเป็นกิจการของสหรัฐฯ

 

ขณะที่ผู้นำแคนาดาพยายามกระตุ้นให้ชาวแคนาดาหันมาสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่น และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยแบบสำรวจเผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 84 จะเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 34 จะยกเลิกการเดินทางไปสหรัฐฯ และจำนวนร้อยละ 32 กำลังพิจารณายกเลิกการเป็นสมาชิกจากผู้ให้บริการสื่อ Streaming ของสหรัฐฯ

 

ข้อคิดเห็นสคต.

สงครามการค้า (Trade War) ทรัมป์ 2.0 กำลังบีบให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าผู้นำแคนาดาและจากอีกหลายๆ ชาติได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยง และผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษี เพราะมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลโดยตรงและทันทีต่อความเป็นอยู่ของชาวแคนาดาและอเมริกัน และยังจะเพิ่มค่าครองชีพต่อทุกคนให้สูงขึ้นอย่างมาก โดยแคนาดาซึ่งกำลังเร่งหาทางออกจากสถานการณ์การค้านี้ ดังนั้น ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าอาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยเน้นการผลิตในประเทศ (Localization) มากขึ้น ปรับกลยุทธ์การค้า เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติม และเล็งหาคู่ค้าชาติอื่นๆ เพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต

 

ที่มา https://abacusdata.ca/canadian-consumer-behaviour-patriotism-trump-canada-first-buy-local/

โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์


 

thThai