ผู้ประกอบการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลี เตรียมพร้อมรับมือกับกฎหมาย Ecodesign ของสหภาพยุโรปแล้ว

หากจะกล่าวถึงบรรดาภาคการผลิตกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญต่อกฎระเบียบข้อบังคับการออกแบบผลิตภัณฑ์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Ecodesign for Sustainable Products Regulation : ESPR) คงจะหนีไม่พ้นภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี ซึ่งถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระดับแนวหน้าในสหภาพยุโรป โดยกฎระเบียบข้อบังคับ ESPR เน้นความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญต่อวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและวางจำหน่ายในตลาดยุโรป ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป และสอดคล้องกับแนวนโยบาย European Green Deal โดยกฎระเบียบ ESPR มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2567 ผู้ประกอบการ 44% ในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีได้มีการนำนโยบายของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้แล้ว และคาดการณ์ว่าภายในปี 2570 ผู้ประกอบการ 81% ในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีจะสามารถดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้ลุล่วง ในขณะที่ 14% ของผู้ประกอบการจะสามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายESPR และคาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีสัดส่วนขยายตัวอยู่ที่ 65%
โดยภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลีได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับกฎหมาย ESPR เห็นได้จากภายในงานแสดงสินค้า Ecomondo (เป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นพื้นที่พบปะและเสวนาระหว่างภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำทางความคิดเห็น หน่วยงานท้องถิ่น ศูนย์การวิจัย และสถาบันต่าง ๆ) จัดขึ้นในวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองริมินี โดยมีสมาคมเครื่องไม้และเฟอร์นิเจอร์แห่งอิตาลี FederlegnoArredo ได้มีการนำเสนอผลการสำรวจ (ร่วมกับ AMBIT กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ของสเปน และ EFIC (European Furniture Industries Confederation) สหพันธ์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์แห่งยุโรป) ของโครงการ FurnCircle (แนวทางและเครื่องมือของเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของสหภาพยุโรป) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และทวีปยุโรป เพื่อการนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การวิเคราะห์ผลกระทบ การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานและการทำงาน ความต้องการด้านทักษะใหม่สำหรับพนักงาน เป็นต้น โดยโครงสร้างของผู้ประกอบการในอิตาลีมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวภายในปี 2570
โดยการฝึกอบรมและทักษะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยสมบูรณ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องมีทักษะทางวิชาชีพใหม่ ๆ ซึ่งค่อนข้างจะขาดแคลนมากในตลาดโดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดเล็ก จากการสำรวจของ FederlegnoArredo พบว่า ปัจจุบัน 44% ของบริษัทมีโปรแกรมการฝึกอบรมด้านความยั่งยืน และคาดว่าภายในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็น 79% นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่า 20% ของบริษัทได้ทำการวิเคราะห์วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แล้ว และคาดว่าภายในปี 2570 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 65% สำหรับรายงานความยั่งยืนประจำปี (ซึ่งจะมีการบังคับใช้ตามกฎหมายในปี 2568) 37% ของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนแล้ว และภายในปี 2570 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 77% โดยธุรกิจขนาดเล็กมีเพียง 14% ที่มีการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนแล้ว ในขณะที่ 52% เป็นการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
ผู้ประกอบการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลี เตรียมพร้อมรับมือกับกฎหมาย Ecodesign ของสหภาพยุโรปแล้ว
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1.ยุโรปนับเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้มีการออกกฎระเบียบทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบังคับใช้จำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการทำการค้าของหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่สาม เนื่องจากกฎระเบียบทางการค้าต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเพิ่มข้อจำกัดและความซับซ้อนให้กับการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์มายังตลาดยุโรปและอิตาลีเป็นอย่างมาก
2. ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่) ในอิตาลีมีจำนวน 15,000 บริษัท โดยมีพนักงานทั้งหมดมากกว่า 128,000 คน (คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดในอิตาลี) ถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของ Made in Italy และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนหลักที่ฟื้นตัวหลังจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปี 2565 อิตาลีกลายเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีผลประกอบการเป็นอันดับ 1 ของยุโรป (แซงหน้าเยอรมนี) ดังนั้น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีจึงได้มีการตื่นตัวกับกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างมาก
3.ในปี 2566 มูลค่าการซื้อขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในอิตาลี อยู่ในอันดับต้น ๆ ของยุโรป มีมูลค่า 25.8 พันล้านยูโร (-3%) เมื่อเทียบกับปี 2565 และการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี หดตัว 4.2% ในขณะที่ ปี 2567 หลังจากที่ช่วงแรกของปียังคงอ่อนแอ แต่แนวโน้มการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบแตะ 50% ในปี 2569 โดยอาจมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 13 พันล้านยูโร สำหรับการบริโภคของครอบครัวในอิตาลีจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากความตึงเครียดด้านเงินเฟ้อที่ค่อย ๆ ปรับลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ ในขณะที่ ผู้บริโภคในประเทศยังคงมีความระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง
4. ปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) ไทยส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์มายังอิตาลีมีมูลค่า 4.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+4.38%) ซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งนับตั้งแต่มีการหดตัวตั้งแต่ปี 2562 ดังนั้น การที่สหภาพยุโรปได้มีการออกกฎหมายบังคับดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยที่ส่งออกและสนใจส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์มายังอิตาลีและยุโรป ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจส่งผลให้ในระยะสั้นผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดยุโรปเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรับกับกฎหมาย ESPR ดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยได้ คือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดยุโรป/อิตาลี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยด้วย
——————————————————————-
ที่มา: 1.Il 44% delle aziende dell’arredo ha avviato politiche di ecodesign – Il Sole 24 ORE
2. Distretti industriali italiani: Dati aziende arredo Made in Italy | Intesa Sanpaolo
3. กรมศุลกากร โดยความร่วมมือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
4.Global Trade Atlas
5.เครดิตรูปภาพประกอบ Photo by Spacejoy on unsplash

thThai