เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 สหรัฐฯ ประกาศแผนตอบโต้สินค้าราคาต่ำนำเข้าจากจีนที่ใช้ช่องว่างด้านกฎระเบียบทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอนุโลมให้สินค้านำเข้าราคาต่ำ (Love-Value Shipment) ไม่จำเป็นต้องชำระภาษีและค่าดำเนินการนำเข้า จนทำให้สินค้าราคาต่ำจากจีนไหลทะลักเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในมาตราการใหม่ที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้คือการจำกัดไม่ให้สินค้านำเข้าที่อยู่ภายใต้กลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจีน (U.S.- China Tariffs) ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีดังกล่าวได้

 

สิทธิ์ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ the de minimis เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่ผู้ประกอบการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ของจีนใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดส่งออกสินค้าราคาต่ำจากจีนไปยังสหรัฐฯ จากข้อมูลรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า สินค้านำเข้าสหรัฐฯ ที่ขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าเพียงราว 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเป็นกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา

 

Mr. Daleep Singh ตำแหน่ง ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Deputy National Security Advisor for International Economics) กล่าวว่า การขยายตัวของสินค้านำเข้าจากจีนผ่านการใช้สิทธิ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการในการคัดกรองสินค้าผิดกฎหมายและสินค้าอันตรายที่จะส่งไปยังสหรัฐฯ ด้วย

 

การขยายตัวของสินค้านำเข้าผ่านการใช้สิทธิ์ the de minimis ไปยังสหรัฐฯ ส่วนมากจะมาจากกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ของจีน อาทิ “Shien” และ “Temu” ที่อาศัยช่องโหว่งของสิทธิ์ดังกล่าวส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคราคาต่ำตรงไปยังกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ซึ่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่จัดส่งแต่ละครั้งจะมีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ จึงสามารถขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าได้

 

อีกทั้ง  Mr. Singh ยังกล่าววว่า กว่าร้อยละ 70 ของสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจีนอยู่ในกลุ่มที่ถูกสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดภายใต้ Section 301 tariffs การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างจริงจังจะช่วยลดปริมาณสินค้านำเข้าราคาต่ำจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวได้มากพอสมควร

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศที่จะเพิ่มระเบียบเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าที่ขอใช้สิทธิ์ the de minimis ด้วย เช่น เลขพิกัดศุลกากร 10 หลัก (10-digit tariff classification number) และชื่อผู้ขอใช้สิทธิ์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎระเบียบการให้สิทธิ์ดังกล่าวที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2473 และเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน จากข้อมูลรายงานโดยคณะกรรมาธิการด้านกลยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน (U.S. House Select Committee on Strategic Competition between the United States and the Chinese Communist Party) พบว่า ในปีที่ผ่านมาเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ที่ขอใช้สิทธิ์ the de minimis เป็นสินค้าส่งออกจากประเทศจีน อีกทั้ง ยังพบว่า กว่าร้อยละ 30 ของสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิ์ดังกล่าวทั้งหมดในแต่ละวันเป็นสินค้าส่งออกจากบริษัท “Shein” หรือ “Temu”

 

โดยการดำเนินกิจการของกลุ่มผู้ค้าปลีกจีนดังกล่าวจะแตกต่างจากผู้ประกอบการทั่วไปที่จะนำเข้าสินค้าปริมาณมากในลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์จัดส่งไปยังผู้กระจายสินค้าในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะกระจายคำสั่งซื้อสินค้าไปยังผู้ผลิตสินค้าในเครือข่ายของตนเพื่อให้จัดส่งสินค้าตรงไปยังผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดลดต้นทุนด้านภาษีนำเข้าได้เป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีและมีความได้เปรียบคู่แข่งในตลาดที่ยังคงต้องจ่ายชำระค่าภาษีนำเข้า เช่น “Gap” และ “H&M” ที่จ่ายชำระค่าภาษีนำเข้ารวมสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐจามลำดับในปี 2565

 

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากผู้ประกอบการจีนดังกล่าวยังมีความเกี่ยวพันธ์กับการใช้แรงงานทาสและแรงงานบังคับด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบฝ้ายจากเมืองซินเจียงที่สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากปัญหาแรงงานบังคับชาวอุยกูร์ด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาวิวัฒนาการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรุดหน้าประกอบกับแนวโน้มวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากมูลค่าประมาณ 2.61 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 เป็นมูลค่า 1.10 ล้านล้านในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.52 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR) อีกทั้ง ยังคาดว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้าออนไลน์สหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.95 ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอีกด้วย

 

แนวโน้มความนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคในตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่พยายามเข้ามาแข่งขันในตลาดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกผ่านทางช่องทางหน้าร้านเดิม เช่น “Gap” “Target” “Macy’s” และ “Walmart” รวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหม่ ซึ่งต่างก็ต้องพยายามปรับ     กลยุทธ์ทางธุรกิจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้นำตลาดอย่าง “Amazon” ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 40.4 ในสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 4.92 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังการซื้อของภาคประชาชนชาวอเมริกัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีพฤติกรรมระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าราคาถูกมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโนบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้การค้าสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ ใช้ช่องโหว่ของกฎระเบียบ the de minimis ที่ให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ารวมไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ จึงก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าราคาถูกจากจีนจำนวนมากในสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความเสียหายทางการค้าทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศและผู้ประกอบการผลิตในประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงไทยด้วย

 

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 2.41 โดยสหรัฐฯ ยังคงนำเข้าสูงสุดจากจีน (ร้อยละ 21.03) รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 17.58) บังคลาเทศ (ร้อยละ 5.43) กัมพูชา (ร้อยละ 5.36) และอินเดีย (ร้อยละ 5.31) ตามลำดับ  ส่วนการนำเข้าจากไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 18) หดตัวลงร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

 

ดังนั้น การพิจารณาดำเนินมาตรการตอบโต้สินค้าราคาถูกนำเข้าจากจีนภายใต้ระเบียบ the de minimis ของสหรัฐฯ จึงน่าจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ด้วยการตอบโต้ดังกล่าวมุ่งเน้นเฉพาะสินค้าที่ส่งออกจากจีนเป็นหลัก  ผู้ประกอบการไทยอาจจะพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์ในลักษณะเดียวกันส่งออกสินค้ามูลค่าต่ำไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐผ่านแคมเปญ SOOK (Small Order OK) ช่องทาง www.thaitrade.com โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด

 

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านคุณภาพของสินค้าสูงแต่ปัจจัยด้านราคาจำหน่ายก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสูง ดังนั้น การพิจารณาควบคุมต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้สามารถแข่งขันได้จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำตลาดสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวพัฒนาสินค้าไปสู่กลุ่มตลาดระดับบนสินค้าออกแบบกลุ่มพรีเมี่ยมคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าจากวัสดุธรรมชาติ สินค้าจากวัสดุนำกลับมาใช้ และสินค้ากลุ่ม Bio Circular Green (BCG) เป็นต้น ก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถรักษาตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

thThai