เนื้อหาสาระข่าวและบทวิเคราะห์: ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศภูมิภาคแคริบเบียนนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก เนื่องจากผู้คนในหลายประเทศนั้นสืบเชื้อสายมาจากชาวลาตินอเมริกัน ชาวอินเดีย และชาวแอฟริกันเป็นส่วนมาก ทำให้มีวัฒนธรรมการกินที่ใกล้เคียงกันมากพอสมควร ซึ่งทั้งสามเชื้อชาติต่างก็มีการบริโภคข้าวเป็นหลักอยู่แล้ว โดยข้าวที่เป็นที่นิยมบริโภคแพร่หลายได้แก่ ข้าวขาวทั่วไป (White Rice) และข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ชาวแคริบเบียนมีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายตามแต่ละท้องถิ่นของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีการบริโภคสินค้าข้าวเป็นหัวใจหลัก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายคือปริมาณการเพาะปลูกและการผลิตข้าวในประเทศเหล่านี้กลับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าต่างก็เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่ด้วยปัจจัยหลายประการก็ทำให้ในปัจจุบันภาพรวมส่วนใหญ่ของภูมิภาคยังคงพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในรายงานข่าวสัปดาห์นี้จะอภิปรายถึงกรณีศึกษาของประเทศตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago)
ภาคการเกษตรการเพาะปลูกและผลิตข้าวในประเทศตรินิแดดและโตเบโกนั้นกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติการณ์ขาดแคลนพื้นที่ กำลัง และอัตราการผลิตอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศที่ตกต่ำตามลงไปด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังจากรัฐวิสาหกิจโรงโม่แป้งแห่งชาติ (National Flour Mills: NFM) ของตรินิแดดและโตเบโกได้ระบุว่าในปีค.ศ. 1992 ตรินิแดดและโตเบโกเคยผลิตข้าวได้มากถึง 21,200 ตัน แต่ศักยภาพลดลงเหลือเพียงประมาณ 500 ตันในปีค.ศ. 2018 ในส่วนของพื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวในปีค.ศ. 2014 เคยมีพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 เอเคอร์ (ประมาณ 7,500 ไร่) แต่ลดลงเหลือเพียง 80 เอเคอร์ (ประมาณ 200 ไร่) ในปีค.ศ. 2022 ทั้งนี้กำลังมีความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกให้อยู่ที่ 500 เอเคอร์ (ประมาณ 1,200 ไร่) ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจข้อมูลชาวนาในประเทศพบว่าในปัจจุบันมีชาวนาอยู่เพียง 15 รายทั้งประเทศ จากที่เคยมีมากกว่า 6,000 รายในช่วงปีค.ศ. 1990 ภาพรวมของพื้นที่ กำลัง และอัตราการผลิตข้าวในประเทศตรินิแดดที่ลดลงจนเข้าสู่สภาพขาดแคลนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ
จากการประสบปัญหาในหลากหลายมิติที่เป็นสาเหตุที่สะสมเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ที่ทำให้ประเทศนี้จากที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเพาะปลูกที่รุ่งเรืองมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าอ้อยและข้าว กลับกลายมาอยู่ในสภาพพลิกฝ่ามือเช่นนี้ คุณ Rushton Paray สมาชิกสภาผู้แทนฯ ฝ่ายค้าน และรัฐมนตรีเงา (Shadow Minister) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้วิพากษ์ต้นตอของปัญหาทั้งหมดว่าประกอบด้วย 1) การชำระหนี้ที่ล่าช้าของรัฐวิสาหกิจโรงโม่แป้ง (NFM) ที่ทำหน้าที่เป็นโรงสีข้าวหลัก แต่ไม่สามารถชำระค่าข้าวกับชาวนาได้ตรงตามเวลา 2) ชาวนาอยู่ในภาวะเป็นหนี้เป็นสิน สืบเนื่องมาจากเหตุผลข้อที่หนึ่งบางส่วน และผลกระทบในด้านการเพาะปลูก 3) ต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้น ราคาสินค้าต้นทุนในการเพาะปลูก เช่น ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตรมีราคาสูงมาก 4) เมล็ดพันธุ์ข้าวขาดแคลน 5) ปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 6) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาพอากาศ 7) ขาดแคลนอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม 8) ปัญหาระบบชลประทานและสิ่งแวดล้อม และ 9) ปัญหาเชิงนโยบายจากภาครัฐที่มิได้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรเท่าที่ควร ทั้งหมดเป็นภาพรวมของต้นตอปัญหาที่ทำให้ตรินิแดดและโตเบโกเผชิญปัญหาการเพาะปลูกและการผลิตข้าวในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ได้ปรากฎความพยายามของรัฐบาลตรินิแดดและโตเบโกที่จะแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกและการผลิตข้าวในประเทศ เห็นได้จากการที่ ดร. Keith Rowley นายกรัฐมนตรีตรินิแดดและโตเบโกได้ประกาศความพยายามในการดึงบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในการจัดตั้งโรงสีขึ้นในประเทศ ซึ่งได้มีแนวโน้มที่บริษัท Haryana State Cooperative Supply and Marketing Federation Ltd. (HAFED) จากประเทศอินเดีย โดยหวังให้เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะลดปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามอย่างมากมายทั้งในส่วนวิธีการ ผลลัพธ์ และผลกระทบ ซึ่งคุณ Fazal Akaloo ตัวแทนชาวนาตั้งคำถามถึงผลลัพธ์จากความพยายามที่จะดึงนักลงทุนโรงสีเข้ามาในประเทศ แต่ทว่ากำลังการผลิตข้าวสารในประเทศยังขาดแคลน จะส่งผลในการแก้ปัญหาไปในทิศทางไหน ตลอดจนถึงการที่โรงสีต่างชาติเข้ามานั้นจะเป็นการทำลายโรงสีและธุรกิจการผลิตข้าวท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนเนื่องจากรับบาลไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: จากการสำรวจข้อมูลของสคต. ณ เมืองไมอามี พบว่าในปัจจุบันแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของตรินิแดดและโตเบโก ได้แก่ ประเทศกายอานา (Guyana) ประเทศบราซิล (Brazil) ประเทศซุรินาม (Suriname) และประเทศอินเดีย (India) โดยที่มีปริมาณการนำเข้าจากประเทศกายอานามากที่สุดโดยมีมูลค่าสูงถึง 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีค.ศ. 2022 ในขณะที่การนำเข้าข้าวจากประเทศไทยมีปรากฎบางส่วนซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 750,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปีค.ศ. 2022 ทั้งนี้ ด้วยประโยชน์เชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศกายอานานั้นอยู่ใกล้กับตรินิแดดและโตเบโกมาก ทำให้กายอานาเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของตรินิแดดและโตเบโกจนถึงปัจจุบัน
จากสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวในประเทศตรินิแดดและโตเบโกที่กำลังเผชิญปัญหาทางการเกษตรอย่างหนัก และดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวไปอีกระยะเวลาพอสมควร ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการสินค้าข้าวไทยที่จะเสาะแสวงหาลู่ทางในการขยายตลาดสินค้าข้าวไปยังตรินิแดดและโตเบโก อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงด้วยว่าข้าวชนิดที่เป็นที่นิยมบริโภคแพร่หลายในประเทศดังกล่าวคือข้าวนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณากลยุทธ์ทางคุณภาพและราคาที่มีประสิทธิภาพต่อการแข่งขันกับสินค้าข้าวจากประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดของสคต. ณ เมืองไมอามี พบว่ามีสินค้าข้าวหอมมะลิไทยปรากฎบ้างบางส่วนแต่ตลาดสินค้ายังค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้หากพิจารณาในส่วนที่ได้อธิบายถึงรายละเอียดปัญหาทางการเกษตรของตรินิแดดและโตเบโก จะพบว่าประเทศนี้ยังคงขาดแคลนสินค้าต้นทุนการเพาะปลูก/การผลิต อาทิ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว ตลอดจนเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญและตัวเลือกสินค้าที่หลากหลาย ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาขยายตลาดสินค้าในการเพาะปลูกไปยังประเทศนี้ได้เช่นกัน
ตรินิแดดและโตเบโกถือได้ว่าเป็นประเทศในภูมิภาคแคริบเบียนที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมของประเทศจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สินค้าเกษตรพื้นฐาน เช่น ข้าว อ้อย อาหารทะเล ถั่วประเภทต่างๆ ที่เคยเพาะปลูกหรือผลิตได้ในประเทศ (ที่ไม่ใช่สินค้ายุทธศาสตร์) ประกอบกับการขาดประสบการณ์และปัจจัยการผลิตภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้ว่าประเทศตรินิแดดและโตเบโกจะมีแหล่งนำเข้าข้าวประจำที่ใกล้ ได้แก่ ประเทศกายอานา ประเทศบราซิล และประเทศซุรินาม แต่ด้วยการค้าที่ผูกขาดจากผู้นำเข้าเพียงไม่กี่รายและความอ่อนแอของภาคการเกษตรภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกข้าวขาว และข้าวนึ่งในประเทศมีราคาแพง ส่วนข้าวพิเศษ อย่างข้าวขาวหอมมะลิของไทยและข้าวบาสมาติของอินเดียแทบไม่มีให้เห็นตามห้างสรรพสินค้า แม้ว่าภาครัฐจะพยายามที่จะสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกข้าวเพื่อความพอเพียงในประเทศก็ตาม ปัญหาอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งในการขยายตลาดสินค้าที่จำเป็นเข้าประเทศนี้ ได้แก่ ปัญหาด้านการขนส่งทางทะเลที่มีต้นทุนสูงมากในขณะนี้ เทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่มีเพียง 1.5 ล้านคน ทำให้ปริมาณและมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละรอบของการสั่งไม่มากพอที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ส่งออกไทย ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าผ่านบริษัทกระจายสินค้าในประเทศอื่น เช่น จากประเทศสหรัฐอเมริกา หรือจากประเทศจาเมกาเป็นต้น อย่างไรก็ตามประเทศตรินิแดดและโตเบโกพยายามขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้เป็นศูนย์รวมทางธุรกิจในภูมิภาคแคริบเบียนใต้ร่วมกับประเทศจาเมกาที่จะขยายท่าเรือน้ำลึกสำหรับรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้
ที่มา: ASSOCIATES TIMES
เรื่อง: “Rice Production in Trinidad and Tobago hits rock bottom sparks concern”
สคต. ไมอามี /วันที่ 22 สิงหาคม 2567