สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคม 2567
การเติบโตและความท้าทายของสินค้าเครื่องดื่มในแคนาดา (Beverage Growth and Challenges)
การผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวแคนาดาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล และข้อกำหนดที่สามารถเป็นสินค้าฮาลาล (Halal) และโคเชอร์ (Kosher) ที่กลายเป็นโจทย์สำคัญให้กับผู้ผลิตที่ต้องมีการศึกษาเข้าใจผู้บริโภคอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเครื่องดื่มผสมวิตามิน (vitamin water) น้ำที่มีแก๊ซ (sparkling water) คอมบูฉะ (kombucha) และเครื่องดื่มโซดาใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนของสินค้ามากขึ้น รวมถึงความต้องการของสินค้าที่ได้การรับรองว่าเป็นสินค้าฮาลาล และโคเชอร์ ซึ่งมีข้อกำหนดตามหลักศาสนา
จากข้อมูลบริษัท Innova Market Insights ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดที่มีชื่อเสียงในด้านการติดตามแนวโน้มและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติเนเธอร์แลนด์ พบว่ายอดจำหน่ายเครื่องดื่มเย็น (Cold Beverage) ในแคนาดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 ระหว่างปี 2562 ถึง 2565 โดยเครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) เป็นหมวดหมู่ที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และในกลุ่ม Sparkling Water และเครื่องดื่มกีฬา (Sports Drink) ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหาเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (Enhance Immune System) เครื่องดื่มที่เป็น Plant Based และเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล แต่ทุกวันนี้ จุดขายในเรื่องสุขภาพอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการเลือกเครื่องดื่มของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า พิจารณาวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ของสินค้าว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นอกจากนี้ จากผลการวิจัยยังพบว่า การรับรองสินค้าของสินค้าเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับศาสนาก็มีความสำคัญมากขึ้น โดยร้อยละ 66 ของสินค้าใหม่ในหมวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มเพื่อโภชนาการกีฬาระบุว่ามีสถานะได้รับรองเป็นสินค้าฮาลาล และร้อยละ 39 กล่าวว่าได้การรับรองสินค้าโคเชอร์ ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคในแคนาดามีความใส่ใจในการเลือกเครื่องดื่มมากขึ้น
แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่สำคัญในแคนาดาสรุปได้ ดังนี้
1) เครื่องดื่มขับเคลื่อนด้วยฟังก์ชัน
ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มที่ตอบสนองมากกว่าแค่ความสดชื่น ความกระหายน้ำ โดยผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ ตั้งแต่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้พลังงานและช่วยควบคุมอารมณ์ แบรนด์ เช่น Daydream Drinks และ Rise เป็นเครื่องดื่มที่มี Adaptogens จากพืชและเห็ด มีคุณสมบัติในการช่วยให้ร่างกายปรับตัวและตอบสนองต่อความเครียดได้ดีขึ้น จากข้อมูลของบริษัท Innova Market Insights พบว่าร้อยละ 57 ของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Sparkling water และเครื่องดื่มกีฬา ในแคนาดาตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 มีการอ้างถึงประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) มีส่วนช่วยในการควบคุมการย่อยอาหารและการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด และการดูดซึมแคลเซียม
- การหลีกเลี่ยงสารเติมแต่งและสารเคมี
ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มที่ไม่มีสารเติมแต่ง ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่ม Betty Buzz ก่อตั้งโดยนักแสดง Blake Lively ซึ่งเปิดตัวในแคนาดาที่ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต Whole Foods Market และ Sobeys ในปี 2024 โดยผลิตภัณฑ์ เช่น Ginger Beer และ Sparkling Grapefruit ที่ปราศจากสารกันบูดและน้ำตาลเทียม ได้รับความนิยมอย่างสูงในแคนาดาและเทียบเท่ากับยอดขายในสหรัฐฯ ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการที่เครื่องดื่มเหล่านี้ปราศจากสารกันบูด สี และน้ำตาลเทียม ซึ่งทางบริษัทพอใจกับการตอบรับจากลูกค้าชาวแคนาดาและจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยการเปิดตัวรสชาติใหม่อีก ได้แก่ Sparkling Oak Smoked Lemonade และ Sparkling Apple Ginger Sour Cherry เพื่อตอบสนองความต้องการ ของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
3) คอมบูฉะยังคงเป็นที่นิยม
Kombucha ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาด ผู้ผลิตคอมบูฉะกำลังทดลองรสชาติใหม่ๆ ด้วยการผสมผสานกับผลไม้ สมุนไพร หรือเครื่องเทศพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย นอกจากนี้
ยังมีการเสริมฟังก์ชันด้วยโปรไบโอติกส์ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ
ซึ่งเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับเครื่องดื่ม Kombucha ที่เป็นออแกนิกและปราศจากกลูเตนก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ทำให้คอมบูฉะยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดเครื่องดื่มสุขภาพปี 2567 โดย แบรนด์ Artizen จากเมือง Perth รัฐออนแทริโอ ได้เปิดตัวสินค้า Orange Turmeric brew เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักเป็นส้มและขมิ้น
4) การรวมกันของแนวโน้ม
การเติบโตของยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เริ่มเห็นการผสมผสานกันของเครื่องดื่มต่างๆ ผู้ผลิตเริ่มผสมผสานคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น การรวมรสชาติและประโยชน์สุขภาพจากเครื่องดื่มหลายประเภท เช่น คอมบูฉะ sparkling water และน้ำดื่มวิตามิน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น นีชัต กุปเต้ จาก Betty Buzz เน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกับร้านค้าและผู้ค้าปลีกเพื่อเพิ่มการทดลองและการรับรู้ของ
แบรนด์ ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมแจกชิมและการจัดกิจกรรมในร้านค้าเป็นวิธีที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและสร้างยอดขาย ในตลาดเครื่องดื่มที่มีการแข่งขันสูง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ผลิตต้องทำการทดลองและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแข่งขันและสร้างความโดดเด่นจากแบรนด์อื่นๆ
ความเห็นของ สคต.
พฤติกรรมผู้บริโภคในแคนาดามีความต้องการที่เปลี่ยนไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในตลาดสินค้าเครื่องดื่ม โดยทุกวันนี้ผู้บริโภคมองหาสินค้าเครื่องดื่มที่มากไปกว่า เรื่องรสชาติ แต่ให้ความสำคัญถึงคุณประโยชน์ของสินค้าเครื่องดื่ม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การปรับอารมณ์ การหลีกเลี่ยงน้ำตาลและสารเคมี ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญกับการรับรองสินค้าฮาลาล (Halal) หรือโคเชอร์ (Kosher) ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจมีโอกาสในการนำเสนอ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรของไทย โดยใช้จุดแข็งคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรเมืองร้อน (พืชที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในแคนาดา) นำเสนอคุณสมบัติ ประโยชน์ต่างๆ ของสมุนไพรไทย พัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทย เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม (Value Added Product) ทั้งนี้ อาจต้องมีการทำการตลาดสร้างการรับรู้คุณประโยชน์สรรพคุณของสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง และควรมีผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อรับรองสรรพคุณของสมุนไพรไทยจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในการสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือของสมุนไพรไทยในระดับนานาชาติ
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-