อุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก กำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงและการศึกษาของเด็กและครอบครัว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็กจะมีการนำเสนอเนื้อหาและรูปแบบที่หลากหลาย เช่น แอนิเมชัน ภาพยนตร์ไลฟ์แอกชัน และภาพยนตร์ประเภทผสม เพื่อให้เด็กได้เพลิดเพลินไปกับภาพและเสียงและสอดแทรกความรู้ สำหรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมของภาพยนตร์สำหรับเด็กเชื่อมโยงหลายด้าน ตั้งแต่การเขียนบท การกำกับ การผลิต ไปจนถึงการจัดจำหน่าย โดยต้นน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก คือการสร้างและผลิตเนื้อหา การสร้างสคริปต์ การถ่ายทำ รวมถึงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ สำหรับกลางน้ำจะเกี่ยวกับการทำตลาดและการฉายภาพยนตร์ ส่วนปลายน้ำเป็นสินค้าผลพลอยได้ อาทิ ของเล่น เสื้อผ้า ฯลฯ เพื่อขยายมูลค่าทางตลาดต่อไป ขนาดของตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดที่สำคัญของตลาดวงการภาพยนตร์
(1) สถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก
ในปี 2562 บ็อกซ์ออฟฟิศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนมีมูลค่า 64,266 ล้านหยวน (321,330 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยบ็อกซ์ออฟฟิศภาพยนตร์เด็กของจีนทำรายได้ถึง 3,050 ล้านหยวน (15,250 ล้านหยวน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ในที่นี้ถือว่าขนาดตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กมีขนาดค่อนเล็ก คิดเป็นเพียงร้อยละ 4.75 แต่ทว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในปี 2564 บ็อกซ์ออฟฟิศของภาพยนตร์จีนทำรายได้มูลค่า 47,258 ล้านหยวน (236,290 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปีก่อน โดยภาพยนตร์จีนครองสัดส่วนถึงร้อยละ 84.49 และที่เหลือเป็นภาพยนตร์ต่างชาติ
ปัจจุบันบ็อกซ์ออฟฟิศของภาพยนตร์สำหรับเด็กของจีน จะครองตลาดโดย 3 บริษัทภาพยนตร์ ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท China Film Group Corporation บริษัท Huaxia Film Distribution Co., Ltd. และบริษัท China Film South Cinema โดยพบว่าในปี 2561 รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศของบริษัท China Film Group Corporation มีมูลค่า 2,526 ล้านหยวน (12,630 ล้านบาท) บริษัท Huaxia Film Distribution Co., Ltd 1,993 ล้านหยวน (9,965 ล้านบาท) และบริษัท China Film South Cinema 1,689 ล้านหยวน (8,445 ล้านบาท) รายได้ของทั้ง 3 บริษัทที่กล่าวมารวมกันครองสัดส่วนตลาดเกือบครึ่ง ในที่นี้ บริษัท China Film Group Corporation ได้ออกภาพยนตร์ในปี 2561 ด้วยกัน 8 เรื่อง อาทิ กังฟูแพนด้า 3 และ มู่หลาน ส่วนบริษัท Huaxia Film Distribution Co., Ltd ออกภาพยนตร์ด้วยกัน 4 เรื่อง อาทิ Bear emergence
(2) นโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีประกาศแผนการพัฒนาภาพยนตร์ของจีน โดยได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนได้เข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ของการพัฒนา ซึ่งแผนฯ นี้ได้เน้นการสนับสนุนภาพยนตร์ไซไฟ ภาพยนตร์แอนิเมชัน และภาพยนตร์พิเศษ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนาภาพยนตร์ที่มีความสำคัญเชิงนวัตกรรมและลักษณะที่โดดเด่นของชนบท เด็ก ชนกลุ่มน้อย รวมถึงการพัฒนาภาพยนตร์แนวสารคดี วิทยาศาสตร์ และโอเปร่า เป็นต้น ซึ่งสนับสนุนให้สมาคมภาพยนตร์เด็กและเยาวชนจีนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นและควรส่งเสริมแนวทางในการสร้างภาพยนตร์สำหรับเด็ก เพื่อให้การสร้างภาพยนตร์และโทรทัศน์ผลิตผลงานที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้เติบโตในทางที่ดี พร้อมนี้คณะกรรมการประสานงานเพื่อการศึกษาภาพยนตร์และโทรทัศน์สำหรับเด็กประถมและมัธยมศึกษา ก็จะต้องรับผิดชอบอย่างแข็งขันในการคัดเลือก แนะนำ และส่งเสริมการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็กอย่างแข็งขัน
(3) การแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก
(3.1) ผู้แข่งขันหลัก ผู้แข่งขันหลักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เด็ก มีบริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ อาทิ Disney, Pixar, DreamWorks, Warner Bros. เป็นต้น รวมถึงบริษัทผู้ผลิตหน้าใหม่ของจีน ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีทั้งประสบการณ์ และทรัพยากรมากมายในการผลิต การจัดจำหน่าย และการตลาด ที่เอื้อให้สามารถผลิตภาพยนตร์สำหรับเด็กคุณภาพสูงได้
(3.2) ลักษณะการแข่งขัน
– แบรนด์ บริษัทผู้ผลิตและผู้กำกับที่มีชื่อเสียง สามารถสะสมอิทธิพลของแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาเป็นเวลาหลายปี ผลงานของแบรนด์เหล่านี้จึงมีฐานผู้ชมในตลาดสูง และสามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นอย่างดี
– เนื้อหาใหม่ที่ทันสมัยกลายเป็นกุญแจสำคัญ สืบเนื่องจากความต้องการของผู้ชมมีความหลากหลาย เนื้อหาใหม่ที่ทันสมัยจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์สำหรับเด็กที่ทำให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ด้วยโครงสร้างเรื่องที่มีสีสัน ภาพตัวละครที่มีชีวิตชีวาและน่ารัก และการใช้สีสันที่สดใส จึงดึงดูดความสนใจของผู้ชมเด็ก ๆ
– การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลได้นำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่การผลิตและการโพรโมตภาพยนตร์สำหรับเด็ก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาพยนตร์สำหรับเด็ก เช่น VR (Virtual Reality ความเสมือนจริง) และ AR (Augmented Reality การผสมผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน) เพื่อให้ได้รับประสบการณ์การรับชมที่สมจริงยิ่งขึ้น และเพิ่มความรู้สึกในการมีส่วนร่วมและประสบการณ์ของผู้ชม นอกจากนี้ ยังเป็นจุดแข่งขันสำหรับบริษัทผู้ผลิตในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี
– ตลาดแบ่งย่อย ด้วยช่วงอายุและความสนใจที่ต่างกันของเด็ก ทำให้ตลาดจะถูกแบ่งย่อยเพิ่มขึ้น ภาพยนตร์แอนิเมชัน ภาพยนตร์ที่แสดงด้วยคนจริงๆ และภาพยนตร์ที่แสดงด้วยคนผสมกับแอนิเมชัน จะมีโอกาสในการพัฒนาเป็นอย่างมาก การแบ่งย่อยของตลาดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้บริษัทผู้ผลิตกำหนดเป้าหมายของผู้รับชมได้แม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้สูงขึ้น
(3.3) แนวโน้มการแข่งขัน
– เนื้อหาจะมีความเป็นสากล สืบเนื่องจากจำนวนประชากรเด็กโลกที่เพิ่มขึ้น ตลาดภาพยนตร์เด็กจึงมีการพัฒนาเนื้อหาในระดับสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมเด็กทั่วโลก
– ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผสมผสาน เทคโนโลยีอย่าง VR และ AR จึงจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาพยนตร์สำหรับเด็ก พร้อมกันนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อย่าง AI ก็จะยิ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการผลิตภาพยนตร์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก
– การทำงานร่วมกันและการบูรณาการของห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซัพพลายเออร์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็ก ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันและการบูรณาการการผลิต การจัดจำหน่าย การตลาด และการเชื่อมโยงอื่นๆ
(4) แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก
(4.1) ขนาดตลาดขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากกำลังการบริโภคที่สูงขึ้นของผู้ปกครองและความต้องการความบันเทิงของเด็กที่เพิ่มขึ้น ขนาดตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กจึงขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่อย่างจีน ตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กมีแนวโน้มการพัฒนาที่แข็งแกร่ง ด้วยประชากรเด็กอายุแรกเกิดถึง 14 ปี ที่มีมากกว่า 253 ล้านคน กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ขนาดใหญ่บวกกับกำลังการบริโภคของผู้ปกครอง ทำให้ตลาดภาพยนตร์เด็กมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอย่างมาก
(4.2) เนื้อหามีความหลากหลาย ภาพยนตร์สำหรับเด็กจะให้ความสำคัญต่อเนื้อหาที่หลากหลายและความมีนวัตกรรมยิ่งขึ้น เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมเด็กที่มีช่วงอายุและความสนใจที่ต่างกัน อนาคตภาพยนตร์สำหรับเด็กจะมีธีมและประเภทที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งแนววิทยาศาสตร์ ผจญภัย การศึกษา เป็นต้น รวมถึงพล็อตเรื่องที่ใกล้เคียงกับชีวิตของเด็กๆ ตัวละครที่น่าสนใจมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง
(4.3) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ สืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่อย่าง VR และ AR จึงจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในภาพยนตร์เด็กมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รับประสบการณ์การรับชมที่เข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความเพลิดเพลินของภาพยนตร์ แต่ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกในการมีส่วนร่วมและประสบการณ์ของผู้ชม ซึ่งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดภาพยนตร์เด็กให้สูงขึ้นด้วย
(4.4) ให้ความสำคัญทั้งการศึกษาและความบันเทิงควบคู่กัน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการศึกษาที่สำคัญที่ให้ความบันเทิงและให้ความรู้ ภาพยนตร์สำหรับเด็กจึงจะให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการศึกษาและความบันเทิงมากขึ้น ในการถ่ายทอดความรู้ ค่านิยม ศีลธรรม และโลกทัศน์ไปยังเด็กผ่านเนื้อหาที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความรู้และเข้าใจความจริงมากขึ้นระหว่างการรับชม
(4.5) มีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศมากขึ้น การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศจะกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับเด็ก ผู้ผลิตภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ จะกระชับความร่วมมือในการร่วมกันเปิดตัวผลงานภาพยนตร์สำหรับเด็กในระดับนานาชาติ ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับการผลิตภาพยนตร์สำหรับเด็กในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยผลักดันให้ตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กทั่วโลกเจริญรุ่งเรืองด้วย
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
อุตสาหกรรมภาพยนตร์สําหรับเด็กของจีนกําลังนําไปสู่โอกาสในการพัฒนาที่ไม่เคยมีมาก่อน การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดภาพยนตร์สําหรับเด็กได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการ เช่น กำลังการบริโภคของผู้ปกครองชาวจีนที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของความต้องการความบันเทิงสําหรับเด็ก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลาดภาพยนตร์สำหรับเด็กในจีนเป็นอีกตลาดที่น่าจับตาสำหรับวงการภาพยนตร์ไทย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของภาพยนตร์สำหรับเด็กสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ปกครองที่เป็นผู้ตัดสินใจหลักในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดและยอมจับจ่ายสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของตน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่ โดยผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยสามารถพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ
1) นำเสนอภาพยนตร์สำหรับเด็กที่มีพล็อตเรื่องที่ต่างไปจากตลาดทั่วไปในจีน สามารถพิจารณาสอดแทรกวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตไทย แหล่งท่องเที่ยวของไทย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และผลักดัน Soft Power ไทยในตลาดจีนผ่านสื่อภาพยนตร์สำหรับเด็กและส่งต่อไปถึงผู้ปกครองที่มีกำลังการบริโภคสูง
2) หาความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง
3) ลงทุนในการด้านประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
4) สร้างตัวละครที่น่าสนใจ ที่สามารถดึงดูดผู้ชมเด็กในหลากหลายช่วงอายุให้สามารถรับชมร่วมกันสนุกไปด้วยกันได้
5) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชม
แหล่งที่มา :
https://www.chinairn.com/hyzx/20240717/140629108.shtml
https://www.sohu.com/a/753435758_121114988
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว