เพิ่มเติมไปจากการแก้ไขกฎหมายภาษีการบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax หรือ SCT) ในสินค้า เช่น ซิการ์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 24 ที่นั่ง ร่างกฎหมาย SCT ที่แก้ไขดังกล่าว ยังรวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 5 กรัม/100 มล. ตามมาตรฐานเวียดนาม (TCVN) ไว้ในรายการสินค้าที่ต้องเสียภาษีการบริโภคพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล รวมถึงคําแนะนําจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่งจากร่างฎหมายที่แก้ไขก่อนหน้านี้ ได้แก่ กระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในอัตราร้อยละ 10 โดยที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอให้เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในอัตราร้อยละ 20 แต่เกิดการต่อต้านอย่างมากจากประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ คาดว่าร่างดังกล่าวจะผ่านในเดือนพฤษภาคม 2568 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2569

เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลตามมาตรฐานเวียดนามประกอบด้วย เครื่องดื่มอัดลม เครื่องดื่มชาและกาแฟพร้อมดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกําลัง เครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์ และเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา สำหรับนม ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำดื่มขวด น้ำผัก น้ำหวาน และผลิตภัณฑ์โกโก้ได้รับการยกเว้นจากภาษีนี้ เนื่องจากถูกจัดอยู่ในประเภทผลิตภัณฑ์โภชนาการเพื่อสุขภาพ

ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 85 ประเทศที่ใช้ภาษีการบริโภคพิเศษกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยในอาเซียนมี 6 ใน 10 ประเทศได้ใช้ภาษีการบริโภคพิเศษกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 5 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มล. ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน โดยใช้วิธีคำนวณภาษีแบบไฮบริดเป็นหลัก (The Hybrid Method) เช่น อัตราภาษีที่ต้องเสียภาษีจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 10-14 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ โดยมีกำหนดอัตราภาษีคงที่ (Fixed) สําหรับปริมาณแต่ละระดับน้ำตาล เช่น 8 กรัม/100 มล., 10 กรัม/100 มล., หรือ 12 กรัม/100 มล. วิธีการนี้ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสหภาพยุโรปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และเยอรมนียังไม่ได้เรียกเก็บภาษีการบริโภคพิเศษสําหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยมองว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวไม่เป็นผลในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนตามที่มีผลการวิจัย แต่ประเทศเหล่านี้ได้ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนแทน เช่น การกำหนดให้ออกกําลังกายในช่วงเวลาเรียนและระหว่างเวลาทํางาน หรือส่งเสริมการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมน้ำอัดลม (Soft drinks) มีรายได้และกำไรลดลงอย่างมาก โดยลดลงระหว่างร้อยละ 15-20 ดังนั้น การจัดเก็บภาษีการบริโภคพิเศษในอนาคตอันใกล้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อผู้ผลิต อุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้ในร่างแรกของกฎหมายภาษีการบริโภคพิเศษ กระทรวงการคลังได้เสนอให้เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลโดยให้สมาคมธุรกิจและตัวแทนกลุ่มธุรกิจจำนวนมากให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ในตลาดต่างประเทศ และคำแนะนำแก่หน่วยงานร่างนโยบาย จนทำให้มีการนำเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลออกจากร่างกฎหมายดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม หลังจากการหารือสาธารณะเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีการบริโภคพิเศษที่แก้ไขเพิ่มเติม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 5 กรัมต่อ 100 มล. ต้องเสียภาษีการบริโภคพิเศษ ซึ่งอัตราภาษีร้อยละ 10 ที่จัดเก็บนั้นจะต้องได้รับการประเมินอย่างรอบคอบตามพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยพิจารณาถึงผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อภาคส่วนอื่น ๆ  ในขณะที่หลายประเทศได้ใช้ภาษีการบริโภคพิเศษกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แต่สำหรับเวียดนามควรต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ นโยบายภาษี และวัฒนธรรมการบริโภคด้วยประกอบกัน นอกเหนือจากการใช้มาตรการภาษีแล้ว เวียดนามควรดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การกำหนดจำกัดขอบเขตจากการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการสนับสนุนอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ คล้ายกับมาตรการที่นํามาใช้ในประเทศอื่น ๆ

ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลเวียดนามได้สนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตของธุรกิจอย่างแข็งขันผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม การขยายกําหนดเวลาชําระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีที่ดิน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการบังคับใช้ภาษีการบริโภคพิเศษ กับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจบริการด้านอาหาร รีสอร์ท การท่องเที่ยว และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ดังนั้น นโยบายด้านภาษีควรสอดคล้องกับทิศทางของพรรคและรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

(แหล่งที่มา https://vir.com.vn/ ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ปัจจุบันเวียดนามมีผู้ผลิตเครื่องดื่มประมาณ 1,800 แห่ง (พ.ศ. 2564) แต่ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบดั้งเดิม คิดเป็นร้อยละ 52 โดยปัจจุบันแบรนด์เครื่องดื่มหลักในตลาด ได้แก่  บริษัท Pepsi บริษัท Coca Cola บริษัท Tan Hiep Phat เป็นต้น ซึ่งการเก็บภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและน้ำอัดลมจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มในเวียดนาม ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ส่งผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจจะต้องมีการปรับราคาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

จากการสำรวจของ WHO ในปี 2545 ชาวเวียดนามโดยเฉลี่ยบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6.04 ลิตรต่อคนต่อปี ในปี 2564 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 55.78 ลิตร เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ทำให้มีการเสนอเก็บภาษีการบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax หรือ SCT) เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมายังเวียดนามควรติดตามการออกมาตรการภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของเวียดนาม เนื่องจากจะส่งผลต่อต้นทุนและราคาจำหน่าย รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีน้ำตาลต่ำ และเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมในตลาดเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

thThai