Metcash และ 7-Eleven ได้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายสำคัญของออสเตรเลีย และเป็นกลุ่มผู้ค้าปลีกรายแรกที่สนับสนุน National Plastics Recycling Scheme (NPRS) ซึ่งเป็นโครงการลดการใช้พลาสติก
โดยใช้วิธีรีไซเคิลพลาสติกแบบอ่อนให้กลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารอีกครั้ง
NPRS เป็นโครงการที่ริเริ่มเป็นครั้งแรกโดย Australian Food and Grocery Council หรือ AFGC มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติกแบบอ่อน (Soft Plastic) เช่น ถุงพลาสติก ถุงขนมปังและซีเรียล ซองหรือห่อบรรจุผักแช่แข็ง รวมไปถึงซองใส่ขนมหวาน/ลูกอม และห่อพลาสติกที่บรรจุกระดาษชำระ ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทที่ยากต่อการรีไซเคิลเนื่องจากเป็นกลุ่มขยะพลาสติกที่มักพบการปนเปื้อนของอาหาร และผลิตจากโครงสร้างพลาสติกหลากหลายประเภท การจัดการจึงต้องอาศัยระบบและกระบวนการรีไซเคิลที่มีความซับซ้อนมากกว่าการรีไซเคิลทั่วไป
จากข้อจำกัดในข้างต้นจึงนำไปสู่การเริ่มโครงการ NPRS โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบการกำจัดพลาสติกแบบอ่อนจากวิธีการฝังกลบเป็นการรีไซเคิล กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทใหม่ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ รวมถึงแก้ไขปัญหาการจัดการขยะประเภทพลาสติกแบบอ่อนในระยะยาว
โดยกระบวนการรีไซเคิลจะเริ่มจากการคัดแยกขยะซึ่งพลาสติกแบบอ่อนจะถูกคัดแยกออกมาโดยเฉพาะเพื่อเข้าสู่การคัดแยกประเภท ทำความสะอาด และหั่นฝอย จากนั้นพลาสติกแบบอ่อนที่ผ่านการคัดแยกประเภทแล้วจะถูกส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้กลายเป็น plasticrude ซึ่งเป็นน้ำมันสารตั้งต้นแรกที่ใช้ในการผลิตพลาสติก ก่อนจะนำไปผลิตเป็นพลาสติก Food Grade ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร
นอกเหนือจาก 7-Eleven and Metcash แล้ว ยังมีบริษัทรายใหญ่อีกกว่า 40 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้ เช่น Nestle, Unilever, Fonterra เป็นต้น อย่างไรก็ตาม AFGC ได้เรียกร้องให้อุตสาหกรรมทุกประเภทที่มีการใช้พลาสติกแบบอ่อน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่น และร้านค้าจำหน่ายสินค้าทั่วไปเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน เพื่อให้เกิดการจัดการพลาสติกแบบอ่อนอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมรายใดรายหนึ่งเท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคาดการณ์ว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะทำให้เกิดการผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกแบบอ่อนที่ประกอบด้วยวัสดุที่สามารถรีไซเคิล ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจัดการด้านการรีไซเคิล การผลิตในภาพรวม อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ รวมถึงกลุ่มผู้ค้าส่งและปลีก
ทั้งนี้ AFGC ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่าโครงการ NPRS จะส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภคทั่วไปที่อำนวยความสะดวกในการจัดการขยะในครัวเรือนได้ง่ายขึ้น รวมถึงส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลในออสเตรเลีย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
……………………………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา: www.foodanddrinkbusiness.com.au