บริษัท onsemi ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขยายฐานการผลิตที่โรงงานในสาธารณรัฐเช็ก ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 46.3 พันล้านเช็กคราวน์ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวถือได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเช็ก และเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าสาธารณรัฐเช็กจะกลายเป็น Silicon Valley แห่งใหม่ของยุโรปกลาง ซึ่งโรงงานแห่งใหม่นี้จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์พลังงานอัจฉริยะ ซึ่งใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า แหล่งพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ บริษัท Škoda Auto ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการขยายฐานการผลิตดังกล่าว เนื่องด้วยบริษัทได้ทำงานร่วมกับ onsemi ในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์มาโดยตลอด
Pavel Sobíšek นักวิเคราะห์ของ UniCredit Bank เชื่อว่าเมือง Rožnov ในภูมิภาค Zlín ของสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน onsemi และบริเวณโดยรอบมีศักยภาพที่จะกลายเป็น “Silicon Valley แห่งยุโรปกลาง” ด้วยการลงทุนของ onsemi จะเป็นการดึงดูดเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่สาธารณรัฐเช็กมากขึ้น ประกอบกับ David Marek นักวิเคราะห์ของ Deloitte ยังมองว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ จากต่างประเทศ “ประโยชน์ของการลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่แค่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธารณรัฐเช็กต้องการมาเป็นเวลานาน” Marek กล่าว นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีเมือง Rožnov, Mr. Jan Kučera ได้กล่าวว่า “เรามีความสุขมากเนื่องจากเป็นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่มีภาระมากนัก และสร้างขึ้นโดยหนึ่งในพันธมิตรที่ดีที่สุดที่ทำงานอยู่ที่นี่มาเป็นเวลานานและเป็นหนึ่งเดียวกัน”
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก นายปีเตอร์ เฟียลา (Mr. Petr Fiala) กล่าวว่ากำลังการผลิตในปัจจุบันของ onsemi ที่เมือง Rožnov อยู่ที่ 10 ล้านชิปต่อวัน สำหรับการขยายฐานการผลิตดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน โดยการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะมีส่วนสนับสนุน GDP ของสาธารณรัฐเช็กมากกว่า 6 พันล้านเช็กคราวน์ต่อปี รวมถึงการจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 1,700 ตำแหน่ง เป็นประมาณ 3,000 ตำแหน่งในอนาคต จากข้อมูลดังกล่าวรัฐบาลคาดว่าจะมีแรงงานและผู้อยู่อาศัยใหม่หลั่งไหลเข้ามาที่เมือง Rožnov จำนวนมากจึงได้เตรียมแผนสำหรับโครงการต่างๆ กว่า 42 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 พันล้านเช็กคราวน์ ที่มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงระบบคมนาคม ที่อยู่อาศัย โรงเรียน และบริการสาธารณะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Mr. Jozef Síkela) มองว่าการขยายโรงงานนี้เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมเช็ก นอกจากจะช่วยในเรื่องการพึ่งพาตนเองของยุโรปในการผลิตชิปแล้ว ยังสามารถใช้เป็นตัวเร่งให้บริษัทอื่นๆ ในการพิจารณาการลงทุนในสาธารณรัฐเช็กได้ด้วย ซึ่งการขยายธุรกิจของบริษัทสหรัฐฯ มายังสาธารณรัฐเช็กถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของสาธารณรัฐเช็ก แม้ว่านักวิเคราะห์จะยังจับตาดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายฐานการผลิตดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ของ Ceská sporitelna, Mr. Michal Skorepa กล่าวว่าชัยชนะของ Donald Trump จะลดโอกาสที่บริษัทในสหรัฐฯ จำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังยุโรป เนื่องจากแนวทาง “America-first ” ในทางกลับกันประธานาธิบดี Joe Biden ไม่ค่อยต่อต้านการย้ายธุรกิจของสหรัฐฯ ไปต่างประเทศ ประกอบกับ “นโยบายของ Biden ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในวงกว้างและการลงทุนด้านเทคโนโลยี” แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสาธารณรัฐเช็กและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อต้านมหาอำนาจ เช่น จีน จะเป็นสิ่งที่ Trump ใช้ Helena Horská สมาชิกสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของรัฐบาลเช็กกล่าว
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
ปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 237,563 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศ เยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,159 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าวัสดุก่อสร้าง สาธารณรัฐเช็กนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 28,635 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี โปแลนด์ สโลวาเกีย อิตาลี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และจีน โดยประเทศไทยส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง ไปยังสาธารณรัฐเช็ก คิดเป็นมูลค่า 90.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 4,055 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศโปแลนด์ เยอรมนี โรมาเนีย จีน และเซอร์เบีย ทั้งนี้ จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น หากการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเช็กเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลักดันการส่งออกสินค้ามายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามแนวโน้มตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน