เศรษฐกิจเช็กดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเช็กเปิดเผยตัวเลขการค้าปลีกของสาธารณรัฐเช็กเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ว่าในเดือนเมษายน 2567 ยอดค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร พลังงานเชื้อเพลิง และร้านขายของชำ ซึ่งธุรกิจออนไลน์และธุรกิจสั่งซื้อทางไปรษณีย์เป็นแรงหนุนหลักของยอดขายที่เติบโตขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดขายพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4 สำหรับสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 แม้ว่ายอดขายสินค้าอาหารจะลดลงเล็กน้อย (-0.2%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567

 

ธุรกิจออนไลน์และธุรกิจสั่งซื้อทางไปรษณีย์ที่เป็นแรงหนุนหลักมียอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสุขภัณฑ์ (+17.1%) และสินค้ายาและการแพทย์ (+8.4%) ในทางกลับกัน จากสถิติยอดขายในร้านเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงร้อยละ 0.2 แต่อย่างไรก็ตาม Jakub Seidler นักเศรษฐศาสตร์ของสมาคมธนาคารเช็กกล่าวว่ายอดค้าปลีกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าการบริโภคภายในครัวเรือนฟื้นตัวขึ้น สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงและความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น หลังจาก 2 ปี ของภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง นอกจากนี้ ยังได้รับการยืนยันโดย Tomáš Volf นักวิเคราะห์ของ Citfin ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “ในที่สุดชาวเช็กก็เริ่มใช้จ่ายมากขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ” จึงสามารถสรุปได้ว่ายอดค้าปลีกกำลังฟื้นตัวจากข้อมูลดังกล่าว โดยนักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องกันว่าในปีนี้ยอดค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 แม้ว่ามุมมองในระยะยาวยอดขายจริงยังคงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในปี 2562 ประมาณร้อยละ 2 แต่ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

 

นอกจากตัวเลขการค้าปลีกของสาธารณรัฐเช็กที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในบทความนี้ขอกล่าวถึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน เพื่อจะได้วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจเช็กในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเช็กได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2567 ของสาธารณรัฐเช็กลดลง เมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งน้อยกว่าเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 0.3 โดยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากราคาอาหารซึ่งลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ตัวอย่างเช่น ราคาแป้งและไข่ลดลงถึงร้อยละ 25ผลไม้ลดลงกว่าร้อยละ 7 และเนื้อสัตว์ลดลงกว่าร้อยละ 6

 

ตามรายงานของสำนักงานแรงงานเช็ก อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นการลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนเมษายน 2567 ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการที่มีคนว่างงานลดลง 5,756 ราย โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 274,322 ราย โดยอัตราการว่างงานในปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวโน้มและความคาดหวังในระยะยาว เนื่องจากอากาศที่อบอุ่นขึ้นส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การจัดงานเทศกาล การก่อสร้าง และฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนที่มีส่วนทำให้อัตราการว่างงานลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการเพิ่มค่าจ้างในช่วงฤดูใบไม้ผลิยังส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอีกด้วย ซึ่งการเพิ่มค่าจ้างส่งผลให้พนักงานมีการเปลี่ยนงานลดลง จากผลสำรวจระบุว่า แม้หลายคนแสดงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนงานในเดือนมกราคม แต่การขึ้นค่าจ้างในเดือนมีนาคมและเมษายน ทำให้หลายคนพิจารณาใหม่

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

ปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 237,563 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศ เยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฮังการี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้า จากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,159 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจเช็กที่มีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออกสินค้ามายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด และศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่มีการ ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยอาจพิจารณาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน และการกำหนดราคาสินค้าที่น่าดึงดูดใจ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เน้นเรื่องราคาเป็นสำคัญ

 

thThai