ส่องพฤติกรรมการซื้อและกลยุทธ์ตลาดค้าปลีกออสเตรเลีย ปี 67

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รูปแบบตลาดค้าปลีกออสเตรเลียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อาทิ การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด e-commerce ความต้องการสินค้าที่แสดงอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลเพิ่มขึ้น การทำสื่อสารตลาดแบบ Omnichannel และการเน้นบริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วเป็นจุดขาย

ตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทั้งผู้เล่นในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ค้าปลีกออสเตรเลียจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้กระบวนการจัดเตรียมและการจัดส่งสินค้าจาก Warehouse ให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ปี 2566 ชาวออสเตรเลียมีการซื้อสินค้าออนไลน์มูลค่า 53,290 ล้านเหรียญออสเตรเลียลดลงเพียงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ช่วงการระบาด COVID-19) เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภาวะเงินเฟ้อในตลาดที่มีผลต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพอื่นๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความสะดวกและประหยัดเวลา และชาวออสเตรเลียซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น (คิดเป็นร้อยละ 32) เนื่องจากเป็นช่องทางในการสืบค้นรายละเอียด/คุณสมบัติของสินค้า เปรียบเทียบราคาและข้อเสนอพิเศษต่างๆ ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาวออสเตรเลียร้อยละ 50 ยังคงซื้อสินค้า Groceries ออนไลน์เป็นประจำ และซื้อสินค้าออนไลน์ประเภท Non-grocery อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 73

นอกจากนี้ การซื้อสินค้าออนไลน์ผู้บริโภคจะพิจารณาซื้อสินค้าที่ความคุ้มค่า ความสะดวกในชีวิตประจำวัน มีผลให้ปี 2567 ผู้ค้าปลีกออสเตรเลียตระหนักและปรับกลยุทธ์การตลาดโดยคำนึงถึง การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ปรับลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการซื้อสินค้า เน้นบริการจัดส่งที่รวดเร็วและมีราคาประหยัดเพื่อเป็นจุดขาย ดังนี้

  1. การลงทุนเกี่ยวกับศูนย์จัดส่งและกระจายสินค้าอัตโนมัติ (Robotics, AI และ Machine learning tools) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกระบวนการรับคำสั่งซื้อ จัดเตรียมและส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและต้นทุนต่ำ เนื่องจากค่าแรงงานสูง
  2. สร้างประสบการณ์ที่ดีและความประทับใจในการซื้อสินค้า อาทิ ให้ความสำคัญต่อรูปแบบการซื้อสินค้าของแต่ละคน การใช้ระบบ AI-assisted 3D shopping, การเปรียบเทียบราคา การลดราคาสินค้าและการเพิ่มทางเลือกเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้า/บริการที่ดีที่สุด
  3. Omnichannel fulfilment เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น
  4. บริการจัดส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง (Same day delivery)
  5. ลดปัญหาการส่งคืนสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจ โดยหาสาเหตุหลักของการส่งคืนและปรับปรุงแก้ไข เช่น การปรับใช้ระบบ Automated warehouse system เพื่ออัปเดทสต๊อกและจัดส่งสินค้าได้ถูกต้อง รวดเร็วและยกระดับบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ผลสำรวจครั้งแรกของหน่วยงาน Food Standards Australia New Zealand (FSANZ) เกี่ยวกับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสินค้าของผู้บริโภค (Consumer Insights Tracker : CIT) พบว่า คุณค่าทางโภชนาการเป็นปัจจัยอันดับ 1 ในการพิจารณาซื้อสินค้าของผู้บริโภค รองลงมาคือ ปัจจัยด้านความคุ้มค่า สินค้าผ่านกระบวนการแปรรูปต่ำ ความสะดวกสบายและแหล่งผลิตสินค้า ตามลำดับ โดยผู้บริโภคร้อยละ 70 เชื่อถือข้อมูลบนฉลากสินค้าด้านหลังที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับโภชนาการ ส่วนผสมของสินค้าและแหล่งผลิตสินค้ามากกว่าข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้าบนฉลากด้านหน้า อีกทั้ง ผู้บริโภคร้อยละ 59 มีความกังวลต่อการเกิดโรคจากการบริโภคอาหาร (Foodborne illness)

    ดังนั้น ความปลอดภัยของสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตและผู้จัดหาสินค้าอาหารควรตระหนักต่อความปลอดภัยและประโยชน์ด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีแก่สาธารณชน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในลำดับต่อไป

    …………………………………………………………………………………

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา:

www.foodanddrinkbusiness.com.au

thThai