เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารเส้นเป็นอย่างมาก อยู่ในอันดับ 4 ของเมนูอาหารที่มีการบริโภคเป็นประจำ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเส้นชนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อคนที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ดี จากการที่แนวโน้มการรับประทานเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้กำลังตื่นตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารเส้นต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและนำไปสู่การแข่งขันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรม
สถานการณ์อุตสาหกรรม
- คำจำกัดความของอาหารเส้น
- อ้างอิงจากรหัสหมวดอาหารของกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (MFDS) อาหารเส้น หมายถึง อาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสมหลัก และผ่านขั้นตอนการปั้น การอบร้อน การอบแห้ง เป็นต้น อาหารเส้นมีหลายประเภทแตกต่างตามวิธีการผลิต อาทิ เส้นสด เส้นที่ลวกแล้ว เส้นอบแห้ง เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สถานะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเส้นในเกาหลีใต้
การผลิตอาหารเส้นของเกาหลีมีมูลค่าถึง 3.991 ล้านล้านวอนในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปีตั้งแต่ปี 2561
-
- ผู้บริโภคมีความชื่นชอบต่ออาหารเส้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากความรวดเร็วในการปรุงอาหาร รวมถึงความสะดวกต่อการจัดเก็บที่สามารถจัดเก็บได้เป็นเวลานาน
- อุตสาหกรรมอาหารเส้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ที่ทั้งดีต่อสุขภาพและรสชาติ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหรูหราและมีความหลากหลาย
- ความนิยมของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีจากอิทธิพลของภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีที่แพร่หลายไปยังตลาดต่างประเทศ ก็ได้ส่งผลให้มีการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- การผลิตอาหารเส้น แบ่งตามประเภท
- อัตราการผลิตเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 73.2 ของการผลิตอาหารเส้นทั้งหมดในประเทศ
- ในปี 2565 สัดส่วนการผลิตในตลาด พิจารณาตามประเภทอาหารเส้น สามารถแบ่งได้เป็นเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดซองร้อยละ 50.1 เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยร้อยละ 23.1 เส้นที่ลวกแล้วร้อยละ 13.0 เส้นอบแห้งร้อยละ 10.6 และเส้นสดร้อยละ 3.2
การจำหน่ายสินค้าอาหารเส้นในเกาหลีใต้
มูลค่าการจำหน่ายอาหารเส้นของเกาหลีในปี 2565 อยู่ที่ 3.417 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 จากปีก่อนหน้า
- เมื่อเร็วๆ นี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากเดิมได้กลายเป็นที่นิยม และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลายของรสชาติ ทำให้ยอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- Shin Ramyun The Red บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด มียอดจำหน่ายถึง 20 ล้านชิ้นภายใน 4 เดือนหลังจากเปิดตัว และ Anseongtangmyeon บะหมี่เนื้อกึ่งสำเร็จรูปรสอ่อน ขายได้ 8.3 ล้านชิ้นภายใน 40 วันหลังจากเปิดตัว
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยภายใต้แบรนด์ของร้านสะดวกซื้อกำลังเป็นที่นิยมในผู้บริโภคที่ต้องการความแปลกใหม่
- ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ยอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย 13 ชนิดเฉพาะภายใต้แบรนด์ของ GS25 คิดเป็นร้อยละ 31.8 ของการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทถ้วยทั้งหมด 150 ชนิด
- อีกทั้ง GS25 ได้เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดธรรมดาถึง 8 เท่า ซึ่งมียอดจำหน่ายรวมถึง 3 ล้านชิ้น ณ เดือนมีนาคม 2567
- มูลค่าการจำหน่ายอาหารเส้น แบ่งตามประเภท
- ในปี 2565 มูลค่าจำหน่ายอาหารเส้นในเกาหลี ซึ่งแบ่งตามประเภทแล้ว เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดซองมีมูลค่าสูงสุดถึง 1.388 ล้านล้านวอน ตามมาด้วย เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยมูลค่า 8.86 แสนล้านวอน เส้นที่ลวกแล้วมูลค่า 5.39 แสนล้านวอน เส้นอบแห้งมูลค่า 4.47 แสนล้านวอน และเส้นสดมูลค่า 1.57 แสนล้านวอน
สถิติการนำเข้าอาหารเส้นมายังเกาหลีใต้
-
- บริษัท Daesang Cheongjeongwon เป็นผู้จัดจำหน่ายเส้นเล็กอบแห้งแบบไทยสำหรับเมนูผัดไทย แต่มีการผลิตรูปแบบ OEM จากเวียดนาม
- นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเส้นแบบไทยที่ผลิตในรูปแบบ OEM กับผู้ผลิตไทยและจำหน่ายในเกาหลีอีกหลายแบรนด์
การกระจายสินค้าและจัดจำหน่ายอาหารเส้นในเกาหลี
- สถานะการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารเส้น (ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)
- สัดส่วนการค้าปลีกของอาหารเส้น พิจารณาตามช่องทางจำหน่ายสินค้า
- ในปี 2566 ร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายอาหารเส้นมากที่สุด ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 30.3) ตามด้วย ซูเปอร์มาร์เกต (ร้อยละ 22.6) ร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต (ร้อยละ 22.4) และร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 16.1)
- สัดส่วนการค้าปลีกของอาหารเส้น พิจารณาตามช่องทางจำหน่ายสินค้า
-
- สัดส่วนการค้าปลีกของอาหารเส้น พิจารณาตามประเภท
- ในปี 2566 ประเภทของสินค้าอาหารเส้น ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ อุด้ง (ร้อยละ 28.8) ตามด้วย บะหมี่เย็น (ร้อยละ 20.8) บะหมี่เกาหลีหรือ Kalguksu (ร้อยละ 15.2) และพาสต้า (ร้อยละ 7.7)
- สัดส่วนการค้าปลีกของอาหารเส้น พิจารณาตามประเภท
- สถานะการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- สัดส่วนการค้าปลีกของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พิจารณาตามช่องทางจำหน่าย
- ในปี 2566 ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แบบซองและถ้วย) มากที่สุด ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 29.1) ตามด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 23.0) ซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 21.7) และร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต (ร้อยละ 15.7)
- สัดส่วนการค้าปลีกของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พิจารณาตามช่องทางจำหน่าย
-
- สัดส่วนการค้าปลีกของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พิจารณาตามประเภท
- ในปี 2566 ประเภทของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ทั้งแบบซองและถ้วย) ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองทั่วไป (ร้อยละ 41.7) ตามด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั่วไป (ร้อยละ 32.7) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสจาจังแบบซอง (ร้อยละ 9.6) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสบิบิมมยอนแบบซอง (ร้อยละ 7.5) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบิบิมมยอนแบบถ้วย (ร้อยละ 6.1)
- สัดส่วนการค้าปลีกของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พิจารณาตามประเภท
แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารเส้นเกาหลี
- ผลิตภัณฑ์อาหารเส้นเพื่อสุขภาพ
- ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจต่อสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีขั้นตอนการทำง่ายและสะดวกในการปรุง
- แม้ว่าอาหารเส้นเพื่อสุขภาพจะมีราคาสูงกว่าจากอาหารเส้นทั่วไป ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะใช้จ่าย เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการที่ดีมากขึ้น
- แนวโน้มอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based) กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก จึงมีการนำกรรมวิธีนี้มาใช้ในอาหารเส้นเช่นกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาหารเส้นให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้
- ผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง แคลเซียมสูง แคลอรี่ต่ำ และคาร์โบไฮเดรตต่ำ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่หลากหลายได้ดี
- ความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability)
- ผู้ผลิตหลายรายเริ่มหันมาสนใจวิธีการผลิตที่ยั่งยืนหรือการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และมุ่งเน้นไปยังความปลอดภัยของผู้บริโภค
- มีการควบคุมการใช้พลาสติกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้วัสดุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายรายเริ่มให้ความสนใจกับบรรจุภัณฑ์ลักษณะใส เพื่อเป็นการลดปริมาณหมึกพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์
- การเปิดตัวผลิตภัณฑ์และการตลาดที่มีเอกลักษณ์เด่น
- การสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้ามีความโดดเด่นในตลาดก็เป็นอีกวิธีการตลาดที่ยังคงได้ผลดี อุตสาหกรรมอาหารเส้นก็มีการแข่งขันอย่างดุเดือด เพื่อที่จะครองทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง การใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นหลักในปัจจุบัน เพื่อสร้างการบอกต่อในหมู่ผู้บริโภค
- การร่วมมือกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ศิลปิน หรือตัวการ์ตูนเพื่อผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ก็เป็นการตลาดที่ได้การตอบรับที่ดี
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหารเส้นเกาหลี
- เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารเส้นเป็นอย่างมาก และถือว่าอยู่ในอันดับ 4 ของเมนูอาหารที่มีการบริโภคเป็นประจำ เฉลี่ยแล้วมีการรับประทานถึง 52.1 ครั้งต่อปีต่อคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคอาหารเส้นชนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อคนที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลก
- โดยทั่วไปแล้ว อาหารเกาหลีดั้งเดิมจะใช้เวลานานในการปรุงอาหาร ส่งผลให้ผู้บริโภคต่างหันมารับประทานอาหารที่ปรุงได้สะดวกอย่างอาหารเส้นมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมปรุงที่มาพร้อมกับวัตถุดิบต่างๆ (Meal Kit)
- แนวโน้มการดูแลสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภค นอกจากนี้ การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ผู้บริโภคปัจจุบันจึงใส่ใจต่อการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์เช่นกัน
- Nongshim ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีได้ทำการตลาดผ่านการร่วมมือกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในเกาหลีเพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการบุกตลาดประเทศไทยโดยร่วมมือเจ๊ไฝ เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Shin ramyun x Jayfai บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งและต้มยำกุ้งผัดแห้ง ซึ่งมีแผนที่จะปรับรสชาติเผ็ดให้เข้ากับผู้บริโภคเกาหลีในภายหลัง ทั้งนี้ เจ๊ไฝได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตกิตติมศักดิ์การท่องเที่ยวไทย-เกาหลี ด้วยแล้ว
ความเห็นสำนักงานฯ โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมอาหารเส้นในเกาหลีใต้ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยที่สำคัญหลายประการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม ความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าใหม่และน่าสนใจ รวมถึง การขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงและการร่วมมือในระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้อาหารเส้นของเกาหลีหลายชนิดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน
สำหรับโอกาสของผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมนี้ สินค้าอาหารเส้นของไทยมีการนำเข้ามายังเกาหลีใต้เป็นอันดับต้นของสินค้าอาหารเส้นนำเข้า และมีวางจำหน่ายอยู่ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของเกาหลีอยู่แล้ว อาทิ เส้นผัดไทย วุ้นเส้น เป็นต้น ในส่วนของมาม่า มีการจำหน่ายในช่องทางออน์ไลน์ เมนูอาหารเส้นของไทยหลายชนิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างของผู้บริโภคเกาหลี อย่างไรก็ดี ในการพัฒนาสินค้าเพิ่มเติม หากเป็นสินค้าที่สามารถปรุงได้ง่าย โดยเฉพาะชุดอาหารพร้อมปรุง ก็จะทำการตลาดได้อย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็วเป็นหลัก รวมถึง การปรับรสชาติให้เหมาะสม การปรับเพิ่มปริมาณ การลดความเผ็ดหรือความเข้มข้นของเครื่องปรุงรสลง นอกจากนี้ การสร้างสินค้าให้มีความหรูหราและมีโภชนาการทางอาหารสูง ก็จะสามารถขยายโอกาสการค้าในเกาหลีได้ยิ่งขึ้นไป
******************************
สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
22 พฤษภาคม 2567
ที่มาข้อมูล:
- Noodle Market Trend, 2023.12, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr
- Food Trend 2024, FoodBizLab, Seoul National University