เนื้อหาสาระข่าว: ท่าที่และวิวาทะของ Janet L. Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศจีนในการเจรจาเพื่อแสวงหาแนวทางการประนีประนอมการแข่งขันทางการค้าของสองมหาอำนาจนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้ประกอบการธุรกิจและภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ นำโดยกลุ่ม Solar Energy Manufacturers of America Coalition (SEMA) และสมาคม Solar Energy Industries Association (SEIA) ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการทางการค้าต่อสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้มข้นกว่านี้ รวมถึงการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ใน พรบ.ปรับลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ให้เอื้อต่อผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้นอีกด้วย

จากการที่ Janet L. Yellen รมว.คลังสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงแนวโน้มท่าทีการตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อข้อเท็จจริงที่ในปัจจุบันของกำลังการผลิตสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ของประเทศจีนนั้นมีมากเกินความต้องการ (Overcapacity) ซึ่งส่งผลต้นทุนราคาสินค้าที่เป็นตัวชี้วัดความต้องการสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในตลาดสหรัฐฯ ว่าทางสหรัฐฯ เองจะยังไม่มีมาตรการทางการค้าใดๆ เพื่อตอบโต้ในกรณีดังกล่าว และยังมีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับการเจรจา (I wouldn’t rule out anything out at this point. We need to keep everything on the table) ซึ่งก็ดูจะเป็นท่าทีที่ค่อนข้างผ่อนปรนต่อฝ่ายจีนต่อกรณีการผลิตและส่งออกสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์

ทางด้านของ Mike Carr ในฐานะ Executive Director ของ SEMA – เครือข่ายซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในสหรัฐฯ ที่มีต่อคำพูดของนาง Yellen นั้นเห็นว่า เสมือนปราศจากความมุ่งมั่นที่สามารถตอบโต้ปัญหาได้อย่างเป็นผลต่อกรณีกำลังการผลิตที่ล้นเกินของประเทศจีน นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวยังถือได้ว่านาง Yellen ยอมรับและนิ่งเฉยกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (Unlevel Playing Field) จากสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทสัญชาติจีน (Chinese-Headquartered) ซึ่งบริษัทเหล่านั้นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาสหรัฐฯ ไป และเป็นการตอกย้ำสภาวะที่เปราะบางของสหรัฐฯ ในการที่ต้องพึ่งสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่ผลิตจากจีนอย่างหมดทางต่อต้าน ซึ่งมันถึงเวลาที่รัฐบาลสหรัฐฯ และทำเนียบขาวควรจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างแข้งกร้าว ในการที่จะสร้างสมดุลการแข่งขันทางการค้าในตลาดสหรัฐฯ อีกครั้ง เพื่อที่จะหยุดยั้งสภาวะการแข่งขันที่นำไปสู่จุดไร้กำไร (Race to the Bottom) ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่เหล่าผู้ประกอบการในสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่จากสินค้านำเข้าในปัจจุบัน

หนึ่งในวิธีการที่ทางกลุ่ม SEMA ได้นำเสนอเพื่อเรียกร้อง คือการขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อความหลักเกณฑ์ในพรบ.ปรับลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหลักที่เป็นที่ทราบกันดีถึงเจตนาที่ออกมาไว้เพื่อกีดกันสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์จากต่างประเทศ และช่วยเหลือผู้ผลิตในสหรัฐฯ ในอีกทางหนึ่งด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือทางภาษีเพื่อจูงใจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ระบุไว้ว่าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่เข้าเกณฑ์นั้นจะต้องมีส่วนผลิตและประกอบขึ้นในสหรัฐฯ อย่างน้อยร้อยละ 40 ในกระบวนการผลิต ซึ่งในส่วนนี้เองที่ทางกลุ่ม SEMA ทักท้วงว่ายังไม่มากพอ ซ้ำยังทำให้กระบวนการสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐฯ มากกว่าหลักเกณฑ์นั้น กลายเป็นสินค้าที่ถูกนับว่าผลิตขึ้นในสหรัฐฯ ไปโดยปริยาย

ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว Mark Widmar CEO ของบริษัท First Solar บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์รายสำคัญในสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการเงินสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ (US Senate Finance Committee) ไว้ว่าในกระบวนการผลิตสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในสหรัฐฯในปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีแม้แต่แผงผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon Panel) เดียวที่ถูกติดตั้งขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2023 ที่มาจากแผงโซลาเซลล์ที่ประกอบขึ้นในสหรัฐฯ หรือ American-Made ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการเข้ามาตีตลาดของสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างสาหัส ซึ่งนับรวมถึงกระบวนการผลิตขั้นต้นน้ำ – กลางน้ำ (Upstream) ที่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เรียกร้องว่ามาตรการรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันดูเหมือนจะยังช่วยเหลือพวกเขาได้ไม่มากเท่าที่ควร

แถลงการณ์เรียกร้องที่เข้มข้นไม่แพ้กันจากเครือข่ายสมาคม SEIA โดยประธานเครือข่ายอย่าง Abigail Ross Hopper ที่ได้ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ระบุว่าผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักและได้ส่งเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับตลาดภายในประเทศที่กำลังถูกบั่นทอนมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และมันถึงเวลาที่พวกเราต้องแก้ไขให้มันถูกต้อง ในขณะนี้สมาคมกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศเพื่อประกอบในรายละเอียดคำร้อง (Petition) ที่จะยื่นต่อไป

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ: ความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความน่าสนใจและต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการยื่นคำร้องที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่เพียงระบุถึงสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่มาจากประเทศจีน แต่ได้ระบุถึงสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่มาจากต่างประเทศทั้งหมดในภาพรวมด้วย

ข้อห่วงกังวลที่ผู้ประกอบการสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ในประเทศไทยซึ่งส่งออกมายังสหรัฐฯ จะอยู่ที่มาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นภายหลังความเคลื่อนไหวดังกล่าวจากฝั่งเครือข่ายธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ได้เพ่งเล็งการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่มีขอบเขตกว้างกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีนไปแล้ว ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่าแหล่งผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์แหล่งสำคัญล้วนอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบริษัทสัญชาติจีนเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์โซลาเซลล์ที่ผลิตจากจีนเข้ามาผลิตแผงโซลาเซลล์เพื่อใช้สิทธิ์มาตรการทางภาษีในการนำเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เครือข่ายธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการจับตาอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

*********************************************************
ที่มา: PV Tech
เรื่อง: “SEMA: US must ‘act aggressively’ to support upstream solar manufacturing following Yellen Beijing visit”
โดย: Will Norman
สคต. ไมอามี /วันที่ 10 เมษายน 2567

thThai